คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานโดยอันดับ 7 มิได้อ้างเอกสารเป็นแต่ละฉบับ เพียงระบุว่า บรรดาสรรพเอกสาร ซึ่งหมายถึงเอกสารหลายฉบับไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นเอกสารอะไร แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงสภาพของเอกสารที่จะอ้างแล้ว จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารเป็นความผิดที่จำเลยมีเจตนากระทำต่อมารดาผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้การกระทำของจำเลยไม่สามารถแยกการกระทำแต่ละขั้นตอนออกจากกันโดยเด็ดขาดก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2543 เวลากลางวันจำเลยพรากเด็กหญิง… อายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากนาง… ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และจำเลยข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิง…ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยไม่ว่าผู้เสียหายที่ 2 จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนจำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารจำคุก 8 ปี ทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาในความผิดฐานนี้ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 3 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารจำคุก 4 ปี เมื่อลดโทษในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลย อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ พยานโจทก์แตกต่างและขัดแย้งกันเองเป็นข้อพิรุธรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ และขอให้ลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยาน อันดับที่ 7 โดยระบุว่าบรรดาสรรพเอกสารและวัตถุพยานในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้โจทก์จะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างเอกสารเป็นแต่ละฉบับ และยื่นบัญชีระบุพยานระบุว่า บรรดาสรรพเอกสาร ซึ่งหมายถึงเอกสารหลายฉบับโดยไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นเอกสารอะไรบ้างก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงสภาพของเอกสารที่จะอ้างแล้ว เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยโดยพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วตามที่ระบุในคำฟ้องย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเอกสารที่โจทก์ประสงค์อ้างส่งตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวล้วนเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการสอบสวนในคดีนี้ทั้งสิ้น โจทก์มีอำนาจนำพยานเอกสารดังกล่าวเข้าสืบได้ เมื่อจำเลยซึ่งถูกอ้างเอกสารดังกล่าวมายันย่อมซักค้านได้ และถ้าเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ย่อมนำพยานที่เกี่ยวข้องมานำสืบหักล้างพยานเอกสารที่โจทก์นำเข้าสืบได้ มิได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่อย่างไร การยื่นบัญชีระบุพยาน อันดับที่ 7 ของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยมีเจตนากระทำต่อมารดาผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้การกระทำของจำเลยไม่สามารถแยกการกระทำแต่ละขั้นตอนออกจากกันโดยเด็ดขาดดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละฐานดังกล่าวชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share