คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิในการร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
ผู้ร้องถูกจับกุมก่อนที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทั้งมิใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือกรณีใดๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การคุมขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย แต่ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งปล่อยตัวผู้ร้อง พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ศาลชั้นต้นประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา ดังนั้น แม้การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การคุมขังนั้นก็สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับไป ผู้ร้องจึงไม่อาจจะร้องขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90
การจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการ้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองต่อไป ทั้งการจับกุมและคุมขังเป็นขั้นตอนต่างหากจากการสอบสวน การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องไว้ระหว่างพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจที่จะดำเนินการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71, 88 แล้ว การคุมขังร้องในระหว่างพิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 371, 32, 33, 60, 80, 83, 91 และริบของกลาง
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การจับกุมผู้ร้องเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ร้องไว้เพื่อดำเนินคดีหรือยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังในระหว่างสอบสวน การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และทำให้ผู้ร้องถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ทำการไต่สวนคำร้อง และปล่อยตัวผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว เห็นว่า ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลในความผิดที่ผู้ร้องอ้างว่าการจับกุม การสอบสวนและคุมขังโดยมิชอบนั้นแล้ว ศาลประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องไว้ในระหว่างพิจารณา ดังนั้น แม้การคุมขังโดยเจ้าพนักงานตำรวจจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ก็สิ้นไปแล้วตั้งแต่ศาลประทับฟ้อง และออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณานอกจากนั้นแม้การจับกุมจะไม่ชอบแต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยผู้ร้องจากการควบคุมของพนักงานสอบสวนหรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าการจับกุมผู้ร้องกระทำก่อนที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทั้งมิใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือกรณีใดๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การคุมขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นประทับฟ้องในข้อหาความผิดดังกล่าวและอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ร้องในระหว่างพิจารณา ต่อมาผู้ร้องหลบหนีไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ร้องและจำหน่ายคดี ครั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีส่งตัวผู้ร้องไปดำเนินคดี และศาลชั้นต้นออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา ดังนั้น แม้การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่การคุมขังเช่นว่านั้น ก็สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณาสิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับไป ผู้ร้องจึงไม่อาจจะร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ได้อีกต่อไปส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า การจับกุมผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจับกุมและคุมขังผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การสอบสวนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า หากการจับกุมเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนั้นๆ ต่อไป ทั้งการจับกุมและคุมขังเป็นขั้นตอนต่างหากจากการสอบสวน การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องไว้ ระหว่างพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจที่จะดำเนินการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71, 88 แล้ว การคุมขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share