คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6021/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียมีสำนักงานที่กำกับดูแลจำเลยคือ บริษัท จ. (สิงค์โปร์) โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท จ. (ออสเตรเลีย) และโอนย้ายไปเป็นลูกจ้างบริษัท จ. (มาเลเซีย) โดยให้โจทก์มีสิทธินับเวลาทำงานติดต่อกันได้ และให้โจทก์คงได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนในกรณีทำงานมานานตามที่เคยได้รับต่อไป ต่อมาโจทก์โอนย้ายไปเป็นลูกจ้างจำเลย และได้ทำสัญญากับบริษัท จ. (สิงค์โปร์) ระบุว่าเป็นการจ้างงานโจทก์ต่อเนื่องจากที่ได้ทำงานกับบริษัท จ. (สิงค์โปร์) และโจทก์ยังคงมีสิทธิสะสมวันหยุดในกรณีที่ทำงานมานานต่อไปจากที่เคยได้รับ เมื่อข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิหยุดพักผ่อนของลูกจ้างในกรณีทำงานมานานไว้ก็ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 181,267.74 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 147,701.14 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 112,439.17 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเป็นสื่อกลางนายหน้าตัวแทนประกันภัย จำเลยเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจาร์ดีน ลอยด์ ทอมป์สัน พีแอลซี ในประเทศอังกฤษซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียมีสำนักงานภูมิภาคอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ คือบริษัทจาร์ดีน ลอยด์ ทอมป์สัน เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลจำเลยอีกทอดหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2530 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทจาร์ดีน ออสเตรเลีย อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ พีทีวาย ลิมิเต็ด ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา ต่อมาเดือนสิงหาคม 2540 โจทก์โอนย้ายไปเป็นลูกจ้างบริษัทอัสลี จาร์ดีน อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ เอสดีเอ็น บีเอชดี ในประเทศมาเลเซีย (ปัจจุบันชื่อบริษัทคริสหรือกริส อินชัวรันซ์ เซอร์วิส เอสดีเอ็น บีเอชดี) โดยโจทก์มีสิทธินับเวลาทำงานติดต่อกันได้ และโจทก์ยังคงได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนในกรณีทำงานมานานต่อไปจากที่เคยได้รับ ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์โอนย้ายไปทำงานกับจำเลย และวันที่ 7 เมษายน 2542 โจทก์ทำสัญญาจ้างงานกับบริษัทจาร์ดีน ลอยด์ ทอมป์สัน เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด โดยระบุว่าเป็นการจ้างงานโจทก์ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ยังคงมีสิทธิสะสมวันหยุดในกรณีที่ทำงานมาเป็นเวลานานต่อไปจากที่เคยได้รับ ต่อมานายฮิวจ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการประเทศในเอเชียทำหนังสือเลิกจ้างโจทก์ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2544 โดยหนังสือเลิกจ้างใช้หัวกระดาษบริษัทจาร์ดีน ลอยด์ ทอมป์สัน เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด บริษัทจาร์ดีน ออสเตรเลีย อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ เอสดีเอ็น บีเอชดี บริษัทอัสลี จาร์ดีน อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ เอสดีเอ็น บีเอชดี และบริษัทจำเลยเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันและบริษัทจาร์ดีน ลอยด์ ทอมป์สัน เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด เป็นบริษัทที่กำกับดูแลบริษัทจำเลย ระยะเวลาที่โจทก์ทำงานตั้งแต่เป็นลูกจ้างบริษัทจาร์ดีน ออสเตรเลีย อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ พีทีวาย ลิมิเต็ด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2530 จนกระทั่งโอนย้ายมาเป็นลูกจ้างจำเลยและถูกเลิกจ้างรวมได้ 13 ปี 10 เดือน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนกรณีทำงานมานานจำนวน 12 สัปดาห์ หรือ 84 วัน โดยโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิลา ในกรณีที่โจทก์ยังไม่ได้ใช้วันหยุดและถูกเลิกจ้าง โจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามจำนวนวันหยุดที่โจทก์มีสิทธิ โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายปีละ 103,790 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยเดือนละ 8,649.17 ดอลลาร์สหรัฐ ในการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 56,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ไม่ได้ใช้ 11,500 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าชดเชย 86,300 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โจทก์แล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนในกรณีทำงานมาเป็นเวลานานหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องวันหยุดพักผ่อนกรณีลูกจ้างทำงานเป็นเวลานานไว้ แต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินส่วนนี้จากจำเลยได้เพราะโจทก์กับจำเลยผูกพันกันตามสัญญาในการทำงาน เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ย้ายจากบริษัทจาร์ดีน ออสเตรเลีย อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ พีทีวาย ลิมิเต็ด ไปเป็นลูกจ้างบริษัทอัสลี จาร์ดีน อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ เอสดีเอ็น บีเอชดี โดยตกลงกันว่าโจทก์ยังคงมีสิทธิหยุดพักผ่อนในกรณีทำงานมานานต่อไปจากที่โจทก์เคยได้รับและสัญญาจ้างแรงงาน ระบุว่าเป็นการจ้างงานโจทก์ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2530 โดยโจทก์ยังคงมีสิทธิสะสมวันหยุดพักผ่อนในกรณีทำงานมาเป็นเวลานานต่อไปจากที่เคยได้รับ เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิหยุดพักผ่อนของลูกจ้างในกรณีทำงานมานานไว้ก็ตาม จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ย่อมต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนกรณีทำงานมานานจำนวน 24,217.67 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share