แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องอ้างเหตุในคำร้องขอเลิกจ้างผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสถานร้ายแรง การที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยต่อเนื่องกันไปว่าการกระทำดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 แล้ว
การกระทำความผิดสถานร้ายแรงอันจะนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างของนายจ้างได้ต้องเป็นการกระทำที่เป็นความผิดอันถือว่าร้ายแรงตามกฎหมาย ไม่ใช่ถือเอาตามที่เขียนไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ผู้คัดค้านกับ อ. ปฏิบัติหน้าที่ในห้องควบคุมเพื่อคอยรับแจ้งเหตุฉุกเฉินซึ่งห้องดังกล่าวเป็นห้องกระจกสามารถมองจากภายนอกเข้าไปเห็นภายในห้องได้ มีโทรศัพท์สื่อสารภายนอกห้องควบคุมได้ตลอดเวลา และมีสัญญาณเตือนภัยให้รู้สึกตัวได้หากมีเหตุผิดปกติของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ การที่ผู้คัดค้านกับ อ. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาฟุบหลับไปด้วยกัน แม้จะผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่ไม่อาจเป็นเหตุขัดข้องหรือก่อความล่าช้าเมื่อมีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน จึงไม่ถึงกับเป็นความผิดในสถานร้ายแรงที่ผู้ร้องจะอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายบุญเศียรกรรมการลูกจ้าง
นายบุญเศียร กรรมการลูกจ้างยื่นคำคัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมและผู้ร้องไม่มีเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้อง และผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากะช่างเทคนิค มีหน้าที่ควบคุมช่างเทคนิคดูแลเครื่องจักรอุปกรณ์ และซ่อมบำรุงเครื่องจักร โดยมีนายอรรถพรผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นคู่กะ ปกติระหว่างเข้ากะบุคคลทั้งสองจะต้องทำงานอยู่ในห้องควบคุมเพื่อคอยรับแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือเหตุต้องแก้ไขซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักรจากฝ่ายต่าง ๆ และตรวจตราการทำงานของเครื่องจักรทั้งหมดของโรงแรม รวมทั้งต้องจดรายงานเกี่ยวกับแรงดันของกระแสไฟฟ้า เครื่องทำความร้อนและเครื่องควบคุมระบบทำความเย็นในโรงแรมตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องจักร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2545 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ผู้คัดค้านนั่งฟุบหน้าหลับอยู่กับโต๊ะทำงาน เป็นการหลับในขณะปฏิบัติหน้าที่ และในขณะเดียวกันผู้คัดค้านได้ปล่อยให้นายอรรถพรหลับในขณะปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับผู้คัดค้านโดยผู้คัดค้านไม่ได้ห้ามปราม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 2 และข้อ 3 ของผู้ร้องว่า การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวแล้วไม่วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านได้กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามคู่มือพนักงาน ข้อ 22 เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 22 และข้อ 25 ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องผู้ร้องอ้างเหตุขอเลิกจ้างผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านได้กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามคู่มือพนักงานอันเป็นความผิดสถานร้ายแรง ข้อ 22 และข้อ 25 ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยต่อเนื่องกันไปว่าการกระทำดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 แล้ว และการกระทำความผิดจะถือว่าเป็นความผิดสถานร้ายแรงอันจะนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างของนายจ้างได้ย่อมต้องเป็นการกระทำที่เป็นความผิดอันถือว่าร้ายแรงตามกฎหมาย ไม่ใช่ให้ถือเอาตามที่เขียนไว้ในข้อบังคับของผู้ร้อง เพราะการกระทำอันไม่เป็นความผิดร้ายแรงแต่ผู้ร้องนำมาเขียนเป็นข้อบังคับไว้ว่าให้เป็นความผิดร้ายแรงย่อมขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าการกระทำดังกล่าวของผู้คัดค้านเป็นความผิดสถานร้ายแรงหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าขณะผู้คัดค้านนั่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในห้องทำงานอันเป็นห้องควบคุมเพื่อคอยรับแจ้งเหตุฉุกเฉินของผู้ร้องซึ่งห้องดังกล่าวมีโทรศัพท์สื่อสารภายนอกห้องควบคุมได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นห้องกระจกสามารถมองจากภายนอกเข้าไปเห็นภายในห้องได้ อีกทั้งมีสัญญาณเตือนภัยให้รู้สึกตัวได้หากมีเหตุผิดปกติของเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านเพียงนั่งฟุบหลับไปและปล่อยให้นายอรรถพรผู้ใต้บังคับบัญชานั่งฟุบหลับไปด้วยกันเช่นนี้ แม้เป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 22 และข้อ 25 แต่การฟุบหลับดังกล่าวย่อมไม่อาจก่อให้เกิดเหตุขัดข้องหรือความล่าช้าเมื่อมีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของผู้คัดค้านก็มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานรักษาความปลอดภัย การฟุบหลับไปบ้างของผู้คัดค้านและนายอรรถพรจึงไม่ถึงกับเป็นความผิดในสถานร้ายแรง จึงยังไม่เป็นเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.