คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7543/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินตามคำร้องขอ เป็นเพียงการวินิจฉัยรองรับสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก้ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินมาเป็นชื่อของผู้ร้องตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 57 บัญญัติไว้ แต่เมื่อการใช้สิทธิของผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธโดยอ้างเหตุผู้ร้องไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนตามมาตรา 103 จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องโดยตรง ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ร้องต้องนำคดีมาสู่ศาลเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยต้องฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินต่อศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานที่ดินมีเหตุตามกฎหมายในการไม่ยอมจดทะเบียนหรือไม่ ฉะนั้นการที่ผู้ร้องนำคดีเข้าสู่ศาลโดยทำเป็นคำร้องขอเพราะถือว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาล ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายรองรับให้กระทำได้จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12648 โดยผู้ร้องซื้อที่ดินแปลงนี้พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินจากนายสุรพล ขัมพานนท์ เมื่อปี 2507 และให้นายอุดม อุดมมะนะ เพื่อนของผู้ร้องใส่ชื่อในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินถือกรรมสิทธิ์แทน ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินและใช้บ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินอยู่อาศัยตลอดมา นายอุดมถึงแก่ความตายเมื่อปี 2527 ได้มีการขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของนายอุดมด้วย และมีการแบ่งมรดกโดยใส่ชื่อนายนิพนธ์ อุดมมะนะ นายประเสริฐ อุดมมะนะ นางนิภาภรณ์ อุดมมะนะ นายวีรชัย อุดมมะนะ นางสาวอัญชนา อุดมมะนะ และนายศุภชัย อุดมมะนะ รวม 6 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกัน ต่อมานายประเสริฐได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้ร้องกับพวกออกไปจากที่ดิน ผู้ร้องต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินแต่จดทะเบียนใส่ชื่อนายอุดม อุดมมะนะ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับนายสุรพลนั้นได้เสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ผู้ร้องนำคำพิพากษาศาลฎีกาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อให้แก้ชื่อในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินจากบุคคลทั้งหกเป็นชื่อของผู้ร้อง โดยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เพราะมิได้ทำการโอนที่ดินหรือทำนิติกรรม เป็นเพียงแต่การแก้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเสียให้ถูกต้องเท่านั้น แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมแก้ชื่อในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดิน โดยแจ้งให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เว้นแต่จะมีคำสั่งศาลมาแสดงว่าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ขอให้ศาลมีคำสั่งให้แก้ชื่อจากนายนิพนธ์ อุดมมะนะ นายประเสริฐ อุดมมะนะ นางนิภาภรณ์ อุดมมะนะ นายวีรชัย อุดมมะนะ นางสาวอัญชนา อุดมมะนะ และนายศุภชัย อุดมมะนะ เป็นชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสารบัญจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 12648 ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องขอแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการจดทะเบียนแก้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12648 ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จากบุคคลอื่นมาเป็นผู้ร้องดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2542 ระหว่างนายประเสริฐ อุดมมะนะ โจทก์ นายจำเริญ ศุภประเสริฐ กับพวกจำเลย ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำร้องขอนี้ โดยเจ้าพนักงานที่ดินไม่มีอำนาจเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจากผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า แม้คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจะวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำร้องขอ ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยรองรับสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ทำการแก้ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินตามคำร้องมาเป็นชื่อของผู้ร้องเพื่อให้ถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 57 บัญญัติไว้ แต่เมื่อการใช้สิทธิของผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธโดยอ้างเหตุผู้ร้องไม่ยินยอมชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา 103 จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องโดยตรง ต้องตามบทบัญญัติมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งหากผู้ร้องประสงค์ให้ศาลบังคับให้ได้ผลตามสิทธิของตนโดยผู้ร้องเห็นว่าเจ้าพนักงานที่ดินไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร้อง ผู้ร้องก็พึงต้องนำคดีมาสู่ศาลในลักษณะของคดีมีข้อพิพาทโดยต้องฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินต่อศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานที่ดินมีเหตุตามกฎหมายในการไม่ยอมจดทะเบียนแก้ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำร้องมาเป็นผู้ร้อง เพียงเพราะผู้ร้องไม่ยินยอมชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้หรือไม่ ฉะนั้น การที่ผู้ร้องนำคดีนี้เข้าสู่ศาลโดยทำเป็นคำร้องขอเพราะถือว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาล ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายรองรับให้กระทำได้ จึงไม่ถูกต้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยยกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share