คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 11 (7) บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย บัญญัติว่า ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด พนักงานอัยการจึงยื่นฎีกาขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้น การยื่นฎีกาของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 11 (7) แม้ศาลชั้นต้นจะเป็นผู้ทำการไต่สวนมาแต่แรก พนักงานอัยการก็มีอำนาจยื่นฎีกาคดีนี้ได้ และไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ประกาศใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ประการใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดปากพนังยื่นฟ้องนายอดิศักดิ์ ชุมวงศ์ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดปากพนัง คดีอาญาหมายเลขดำที่ 539/2545 ในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดปากพนังออกนั่งพิจารณา อ่านอธิบายฟ้อง และสอบถามคำให้การของจำเลย มีนายศุภชัย ชุมวงศ์ แสดงตนรับสมอ้างต่อศาลว่าเป็นจำเลย ศาลจังหวัดปากพนังเห็นว่าบุคคลที่มาศาลไม่ใช่จำเลย จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 529/2545 และศาลได้ไต่สวนดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลแก่นายศุภชัย นายนิคม ชุมวงศ์ นายสุพจน์ ณ นคร และนายถนอมศักดิ์ แซ่ตั้น แล้วเห็นว่านายศุภชัย นายนิคม นายสุพจน์ และนายถนอมศักดิ์ ร่วมกันเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาอันเป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดอำนาจศาล และมีคำสั่งให้จำคุกนายศุภชัยกับนายนิคมคนละ 6 เดือน จำคุกนายสุพจน์กับนายถนอมศักดิ์คนละ 4 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ล.1/2545 หมายเลขแดงที่ ล.1/2545 ของศาลชั้นต้น หลังจากนั้นศาลชั้นต้นไต่สวนหาบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของบุคคลทั้งสี่ดังกล่าวและ เห็นว่า พฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลเข้าข่ายในความผิดฐานร่วมกันละเมิดอำนาจศาล จึงแจ้งข้อหาฐานร่วมกันละเมิดอำนาจศาลแก่ผู้ถูกกล่าวหา
ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มีคำสั่งให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหา 6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
พนักงานอัยการจังหวัดปากพนังฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาก่อนว่า การที่พนักงานอัยการยื่นฎีกาตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกต้องเป็นมาตรา 249) ซึ่งประกาศใช้อยู่ในขณะนั้นหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 11 (7) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติว่า ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ให้พนักงานอัยการทราบ พนักงานอัยการจึงยื่นฎีกาขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้น การยื่นฎีกาของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) แม้ศาลชั้นต้นจะเป็นผู้ทำการไต่สวนมาแต่แรก พนักงานอัยการก็มีอำนาจยื่นฎีกาคดีนี้ได้ และไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ประกาศใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ประการใด ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจยื่นฎีกาแทนศาลและเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของพนักงานอัยการจังหวัดปากพนังว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนตัวจำเลยอันเป็นความผิดฐานร่วมกันและละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ …ฯลฯ… จากการไต่สวนของศาลชั้นต้นแม้จะปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นพนักงานสอบสวนในคดียาเสพติดให้โทษดังกล่าว แต่คำเบิกความของบุคคลทั้งสี่ดังกล่าวในชั้นไต่สวนในคดีที่บุคคลทั้งสี่เป็นผู้ถูกกล่าวหากับคำเบิกความของพยานอื่นอีกรวม 7 ปาก ในชั้นไต่สวนคดีนี้ มิได้มีผู้ใดเบิกความพาดพิงถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนตัวจำเลยแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงชอบแล้ว ฎีกาของพนักงานอัยการจังหวัดปากพนังฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share