คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6844/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานมีกำหนดเวลา 1 ปี แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดเวลาโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กับค่าชดเชย ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้เฉพาะประเด็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนค่าชดเชยศาลแรงงานกลางมิได้มีคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยจึงไม่ครบทุกประเด็นแห่งคดีอันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 เป็นกรณีลูกจ้างที่ได้ทำงานจริงและมีระยะเวลาติดต่อกันครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยจึงจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย มิใช่เอาระยะเวลาจ้างตามสัญญาจ้างมากำหนดว่าหากโจทก์ทำงานครบเวลาตามสัญญาจ้างแล้วโจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยมากำหนด เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยได้เพียง 3 เดือนเศษ ย่อมไม่มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งวิศวกรชั่วคราว กำหนดค่าจ้างเดือนละ 70,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าที่พักอีก 10,000 บาท มีกำหนดระยะเวลาจ้าง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2547 ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2546 จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการที่ไม่ได้รับเงินเดือนในการทำงานจนครบตามสัญญาจ้างอีก 9 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 720,000 บาท จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 70,000 บาท และหากมีการทำงานจนครบกำหนดตามสัญญา 1 ปี โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นค่าจ้างเดือนสุดท้ายอีก 90 วัน เป็นเงิน 210,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรด้านไฟฟ้าชั่วคราว โจทก์ปฏิบัติงานไม่ได้คุณภาพ ซึ่งลักษณะงานต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง นอกจากนี้โจทก์ไม่เร่งรัดปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงภายในกำหนดเวลาตามปกติแต่กลับนำงานที่ควรจะทำเสร็จภายในเวลาทำงานปกติไปทำเป็นงานนอกเวลา ทั้งโจทก์ตอกบัตรลงเวลาและแสดงรายการใบแจ้งเวลาว่าโจทก์ทำงานในวันหยุดทำให้จำเลยหลงเชื่อว่าโจทก์ทำงานจริงจึงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลา แต่ความจริงแล้วโจทก์ไม่ได้ทำงานตามที่แจ้งไว้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย นอกจากนี้โจทก์นำอุปกรณ์เครื่องใช้ของจำเลยไปใช้และแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยจำเลยไม่ได้อนุญาต พฤติการณ์ดังกล่าวนี้จำเลยได้ตักเตือนโจทก์หลายครั้งแต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่นำพาและไม่ปรับปรุงพฤติกรรมให้เหมาะสมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้า 70,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 19,000 บาท และค่าล่วงเวลาค้างจ่าย จำนวน 2,625.03 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 8,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่จะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นไม่ครบตามคำฟ้องหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานมีกำหนดเวลา 1 ปี แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดเวลาโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับค่าชดเชยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้เฉพาะประเด็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนประเด็นค่าชดเชยศาลแรงงานกลางมิได้มีคำวินิจฉัยว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับหรือไม่เพียงใด คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ครบทุกประเด็นแห่งคดีอันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 แต่เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2546 จึงถูกเลิกจ้างซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เห็นว่า โจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยเพียง 3 เดือนเศษ ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ในค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเวลา 90 วัน โดยอ้างว่าหากโจทก์ทำงานกับจำเลยครบระยะเวลา 1 ปี ตามสัญญาแล้ว โจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยจำนวนดังกล่าวนั้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้ (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน… (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน…” นั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายความว่า จะต้องเป็นกรณีลูกจ้างที่ได้ทำงานจริงและมีระยะเวลาติดต่อกันครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย หาใช่เอาระยะเวลาจ้างตามสัญญาจ้างมากำหนดว่าหากโจทก์ทำงานครบเวลาตามสัญญาจ้างแล้วโจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยมากำหนดไม่ เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยได้เพียง 3 เดือนเศษ ย่อมไม่มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share