แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 28 มาตรา 62 และมาตรา 64 หมายความว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งวัน หากนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุดและจ่ายในอัตรา 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุด
โจทก์ให้ลูกจ้างของโจทก์ทำงานทุกวันโดยไม่ได้จัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเสมือนว่าโจทก์สั่งให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยลูกจ้างรายวันซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 56 (1) จะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวในอัตรา 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามมาตรา 62 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ส่วนที่ยังไม่ครบถ้วนให้แก่นายเสริมศักดิ์ จิตรหาญ กับพวกรวม 5 คน เป็นเงินจำนวน 63,558 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 ประกอบมาตรา 62 และมาตรา 28 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะโจทก์ให้ลูกจ้างทั้งห้าคนดังกล่าวทำงานรักษาความปลอดภัยเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) และกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ.2541) โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ให้แก่ลูกจ้างทั้งห้าคนตามคำสั่งของจำเลยอีก ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ที่ 17/2547 เรื่องค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์
จำเลยให้การว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามฟ้องถูกต้องเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายทุกประการแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สิน นายเสริมศักดิ์ จิตรหาญ นายปัญญา บุญช่วย นายเกรียงไกร ยนต์เกื้อ นางสาวสะอิ้ง เม่นตะเภา และนางสาวอุทุมพร สวัสดี เป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหน้าที่เฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินให้แก่ธุรกิจของโจทก์ ได้รับค่าจ้างรายวัน โจทก์ให้ลูกจ้างทั้งห้าทำงานทุกวันโดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างทั้งห้าได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ให้แก่ลูกจ้างทั้งห้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ที่ 17/2547 ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวันโดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้” มาตรา 64 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงานหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 62 และมาตรา 63 เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด” และมาตรา 62 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้ (1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (2) สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งวัน หากนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุดและจ่ายในอัตรา 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุด คดีนี้โจทก์ให้ลูกจ้างของโจทก์รวมทั้งลูกจ้างทั้งห้าทำงานทุกวันโดยไม่ได้จัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างทั้งห้าเสมือนว่าโจทก์สั่งให้ลูกจ้างทั้งห้าทำงานในวันหยุด โดยลูกจ้างทั้งห้าเป็นลูกจ้างรายวันซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 56 (1) ซึ่งต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างทั้งห้าในอัตรา 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามมาตรา 62 (2) แต่โจทก์ได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานให้แก่ลูกจ้างทั้งห้าไปแล้วจึงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดขาดไปจำนวน 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงาน การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 17/2547 ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างทั้งห้าเพิ่มอีก 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานจึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน