คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลแรงงานกลาง และเพิ่งจะยกขึ้นโต้เถียงคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธิพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่ระบุไว้ว่า “แต่งตั้งให้ ล. และ/หรือ ส. เป็นผู้รับมอบอำนาจ” นั้น มีความหมายว่า ล. และ ส. จะร่วมกันกระทำการในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ด้วยกันก็ได้หรืออีกกรณีหนึ่ง ล. หรือ ส. เพียงคนใดคนหนึ่งก็มีอำนาจกระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้เช่นเดียวกัน และการมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยผู้รับมอบอำนาจทั้งสองจะกระทำการร่วมกันหรือต่างคนต่างกระทำการแยกจากกันได้ ค่าอากรแสตมป์สำหรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้ายประมวลรัษฎากรต้องปิดอากรแสตมป์รวม 60 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์โดยนายลาร์ส ธอร์เซ่น และนายแม็ทส์ ปีเตอร์ โกสทา ฟอร์แมน มอบอำนาจให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น หรือนายสันติ จินตวนิช ดำเนินคดีแทน จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2535 ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,000 บาท ต่อมาได้ลาออกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 ระหว่างทำงานกับโจทก์ จำเลยมีตำแหน่งเป็นพนักงานจัดซื้อมีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าแทนโจทก์ เพื่อให้โจทก์นำสินค้าไปขายแก่ลูกค้าของโจทก์ที่อยู่ต่างประเทศโจทก์มีระเบียบและแนวทางปฏิบัติในการทำงานว่า ห้ามพนักงานหาประโยชน์จากคู่ค้าของโจทก์ เช่น เรียกเงินค่าตอบแทนจากผู้ขาย (ค่าคอมมิชชัน) เมื่อระหว่างปี 2540 ถึงกลางปี 2542 จำเลยโดยเจตนาทุจริตได้หลอกลวงบริษัทคู่ค้าของโจทก์รวม 5 บริษัท ว่าบริษัทแต่ละรายจะต้องจ่ายเงินตอบแทนในอัตราร้อยละ 4 หรือร้อยละ 5 ของยอดที่โจทก์สั่งซื้อแต่ละงวดเพื่อจ่ายให้แก่ผู้บริหารของโจทก์ หากไม่ยอมจ่าย ผู้บริหารของโจทก์จะไม่สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายรายนั้น บริษัททั้งห้าดังกล่าวหลงเชื่อจึงโอนเงินให้จำเลยทุกครั้งที่ขายสินค้าแก่โจทก์เป็นเงินรวม 8,062,999.90 บาท จำเลยได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้บริษัทคู่ค้าของโจทก์ต้องเพิ่มราคาสินค้าที่จะขายแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 4 หรือร้อยละ 5 ตามที่จำเลยเรียกร้อง หรือไม่ลดราคาสินค้าให้แก่โจทก์เท่ากับจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายแก่จำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 8,062,999.90 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตผิดระเบียบและข้อบังคับการทำงานของโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือยอมรับสารภาพต่อโจทก์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 จำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 8,062,999.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จคำนวณถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 503,937 บาท รวมเป็นเงิน 8,566,936.90 แต่จำเลยชำระให้โจทก์เพียง 120,000 บาท แล้วไม่ยอมชำระอีก คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดจำนวน 8,446,936.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 8,446,936.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การฟ้องแย้งว่า ขณะฟ้องคดีนายลาร์ส ธอร์เซ่นและนายแม็ทส์ ปีเตอร์ โกสทา ฟอร์แมน ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้บุคคลใดฟ้องคดีแทน หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตราประทับก็ไม่ตรงกับตราประทับที่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 54,240 บาท และถูกโจทก์ปลดจากการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 โจทก์ไม่เคยมีระเบียบข้อบังคับการทำงานดังที่โจทก์อ้าง จำเลยไม่มีหน้าที่และไม่มีอำนาจสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าของโจทก์ การตัดสินใจซื้อสินค้าเป็นอำนาจของบริษัทอีเกียเทรดดิ้ง (ประเทศไทยสวีเดน) จำเลยไม่เคยเรียกร้องให้ผู้ขายสินค้าจ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยโดยมิชอบ แต่ผู้บริษัทผู้เสนอขายสินค้าติดต่อกับจำเลยเพื่อให้จำเลยให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพตามที่โจทก์ต้องการ โดยผู้ขายสินค้าจะจ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยเป็นคราว ๆ ไป จำเลยไม่เคยหลอกลวงผู้ขายให้โอนเงินให้จำเลย การที่จำเลยให้คำแนะนำในการพัฒนาคุณภาพสินค้าแก่ผู้ขายไม่ได้ทำให้โจทก์เสีย การเสนอขายสินค้าให้โจทก์ในแต่ละผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด มีผู้เสนอราคาขายให้โจทก์หลายราย ผู้เสนอขายจึงต้องเสนอราคาที่สามารถแข่งขันกับรายอื่นได้ โจทก์เป็นเพียงตัวแทนของบริษัทอีเกีย เทรดดิ้ง (ประเทศไทยสวีเดน) จำกัด ในการจัดซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์จากผู้เสนอขายในประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสารภาพผิดเพราะถูกข่มขู่ กดดัน และหลอกลวง โดยโจทก์บอกว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อความรับสารภาพว่าจำเลยได้รับเงินจากผู้ขายสินค้า หากจำเลยยอมลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวเรื่องจะจบลง และจะบอกพนักงานในบริษัทว่าจำเลยได้งานใหม่ที่ดีกว่า แต่หากไม่ลงลายมือชื่อโจทก์จะนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับและประจานให้บุคคลทั่วบริษัททราบว่าจำเลยทุจริตรับเงินจากผู้ขายสินค้า ต่อมาโจทก์มีหนังสือปลดจำเลยจากการเป็นลูกจ้างโดยอ้างว่าจำเลยกระทำการทุจริตและฝ่าฝืนกฎระเบียบของบริษัท ซึ่งไม่เป็นความจริง การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยจำเลยไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 433,920 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 54,240 บาท และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของนายจ้าง 136,660.68 บาท รวมเป็นเงิน 634,820.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยและให้โจทก์รับจำเลยเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างและสิทธิประโยชน์คงเดิม หากไม่ประสงค์จะรับจำเลยเข้าทำงานอีก ขอให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 11,715,840 บาท และให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจากการนำชื่อและรูปถ่ายของจำเลยไปประกาศหนังสือพิมพ์หลังจากการเลิกจ้างจำเลยแล้ว ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นคนไม่ดีจำนวน 2,000,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยลาออกจากงานไปเองโจทก์มิได้เลิกจ้างจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่โจทก์ลงประกาศหนังสือพิมพ์ก็เพื่อฟ้องกันส่วนได้เสียของโจทก์โดยสุจริตทั้งไม่มีข้อความที่แสดงว่าจำเลยกระทำการทุจริตต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยทุจริตต่อหน้าที่ที่จงใจทำให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าแทนโจทก์ ในระหว่างการทำงานจำเลยได้เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นคู่ค้าของโจทก์รวม 5 บริษัทตามฟ้อง จ่ายเงินให้แก่จำเลยในการที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทคู่ค้าของโจทก์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์มิได้เป็นผู้ขายสินค้าที่ซื้อจากบริษัทคู่ค้าแก่บุคคลทั่วไปโจทก์เพียงรับซื้อสินค้าไว้แล้วขายต่อให้บริษัทในกลุ่มเดียวกัน ความเสียหายจากการที่จะต้องซื้อสินค้าแพงเพราะบริษัทคู่ค้าต้องจ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยจึงไม่เกิดขึ้น ส่วนความเสียหายอย่างอื่นก็ไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 8 ล้านบาทตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรยกอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2 ที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ขึ้นมาวินิจฉัยก่อน สำหรับปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ปิดอากรแตมป์ครบถ้วนหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลแรงงานกลางและเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาความคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 พิเคราะห์ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้ว เห็นว่า สำหรับใบมอบอำนาจนั้นบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของประมวลรัษฎากรกำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และกรณี (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ว่า โจทก์มอบอำนาจและแต่งตั้งให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช เป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนฟ้องร้องดำเนินคดี ต่อสู้คดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา กับนางชมนาถ ภักดี (จำเลย) และมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าต่างในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งในศาลและนอกศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา ตลอดจนมีอำนาจรับเงิน ทรัพย์สิน หรือเอกสารจากพนักงานเจ้าหน้าที่จากศาลจากการบังคับคดีหรือจากคู่ความ… สำหรับข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวที่ระบุไว้ว่า “มอบอำนาจและแต่งตั้งให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช เป็นผู้รับมอบอำนาจ” นั้น มีความหมายว่า นายลาร์ส ธอร์เซ่น และนายสันติ จินตวนิช จะร่วมกันกระทำการในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ด้วยกันก็ได้หรืออีกกรณีหนึ่งนายลาส์ส ธอร์เซ่น หรือสันติ จินตวนิช เพียงคนใดคนหนึ่งก็มีอำนาจกระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้เช่นเดียวกัน และการมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยผู้รับมอบอำนาจทั้งสองจะกระทำการร่วมกันหรือต่างคนต่างกระทำการแยกจากกันได้ ค่าอากรแสตมป์สำหรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้ายประมวลรัษฎากร กล่าวคือต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท รวม 60 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เพียง 30 บาท เท่านั้น จึงเป็นกรณีปิดอากรแสตมป์ในเอกสารดังกล่าวไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ นายลาร์ส ธอร์เซ่น และ/หรือนายสันติ จินตวนิช จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share