คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7349/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีเจตนารมณ์ที่คำนึงถึงการลงโทษจำคุกในคดีก่อนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้กระทำความผิดที่เคยได้รับโทษจำคุกมาแล้วและหวนกลับมากระทำความผิดอีกเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำความผิดอีกอันเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิด และบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่าความผิดที่ศาลจะลงโทษในคดีหลังต้องเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยเจตนา จึงไม่อาจตีความได้ว่าการกระทำความผิดในคดีหลังต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น แม้การกระทำความผิดในคดีหลังจะเป็นการกระทำความผิดโดยประมาท ศาลจะไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56, 152 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์การแก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การรอการลงโทษไว้ว่าการกระทำความผิดในคดีหลังต้องเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา ประมาท หรือความผิดลหุโทษจึงต้องใช้หลักเกณฑ์เหมือนกับกระทำความผิดในคดีก่อน โดยต้องเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นการกระทำโดยประมาท ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ประกฏว่าผู้ใดนั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ… ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้” จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ผู้ที่กระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและศาลลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ศาลจะรอการลงโทษได้ก็ต่อเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อนคดีที่ศาลจะมีคำพิพากษา เว้นแต่เป็นโทษจำคุกสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่คำนึงถึงการลงโทษจำคุกในคดีก่อนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้กระทำความผิดที่เคยได้รับโทษจำคุกมาแล้วและหวนกลับมากระทำความผิดอีกเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำความผิดอีกอันเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิด และบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่าความผิดที่ศาลจะลงโทษในคดีหลังต้องเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยเจตนา จึงไม่อาจตีความได้ว่าการกระทำความผิดในคดีหลังต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้นดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา เมื่อปรากฏว่าคดีก่อนจำเลยได้รับโทษจำคุกในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยโดยให้เหตุผลว่ากรณีของจำเลยไม่อาจรอการลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share