แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ส่วนผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นผู้ออกเงินค่าทำศพผู้ตายและเป็นเจ้าหนี้กองมรดกผู้มีส่วนได้เสียก็ตาม
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายวิชัย แซ่ลี้ ซึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือจัดตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ตายไม่มีภริยาและบุตรมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัย แซ่ลี้ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายวิชัย แซ่ลี้ ผู้ตายกับนางสำราญ ประสงค์อาวะ จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับมรดก ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาววารี ญาณจินดา ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัย แซ่ลี้หรือญาณจินดา ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายวิชัย แซ่ลี้หรือญาณจินดา ผู้ตาย เป็นบุตรของนายกวยหรือกรวย กับนางเป้า แซ่ลี้ บิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2542 ด้วยสาเหตุระบบทำงานของหัวใจล้มเหลว ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีเงินฝากที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาผักไห่ จำนวน 43,342.49 บาท ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ตายแต่งงานกับนางสำราญ ประสงค์อาวะ แต่เลิกร้างกัน เมื่อประมาณปี 2510 ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2542 ด้วยสาเหตุระบบทำงานของหัวใจล้มเหลว ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ร.4 ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายมีเงินฝากที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาผักไห่ จำนวน 43,342.49 บาท ตามสำเนาสมุดเงินฝากออมทรัพย์เอกสารหมาย ร.6 ขณะผู้ตายมีชีวิตอยู่ผู้ร้องเป็นผู้ดูแล เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ร้องเป็นผู้จัดการศพ เสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 100,000 บาท ผู้ร้องประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับนางสำราญ ประสงค์อาวะ ตามสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรสและสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ค.1 ถึง ค.3 ผู้ตายเคยทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด โดยระบุให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับประโยชน์ตามสำเนาบันทึกสลักหลังกรมธรรม์เอกสารหมาย ค.5 เห็นว่า ผู้คัดค้านเบิกความยืนยันว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับนางสำราญ ประสงค์อาวะ โดยมีสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ค.1 และสำเนาสูติบัตรผู้คัดค้านเอกสารหมาย ค.1 ระบุว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้าน โดยมีนางสำราญเป็นมารดา ส่วนสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ค.3 ระบุว่าเด็กหญิงเล็ก ญาณจินดา ซึ่งเกิดวันที่ 31 กรกฎาคม 2511 มีบิดาชื่อนายวิชัยซึ่งหมายถึงผู้ตายและมีมารดาชื่อนางสำราญ แม้มิได้ระบุชื่อผู้คัดค้านในปัจจุบัน แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ตายกับนางสำราญมีบุตรคนอื่นอีก จึงเชื่อว่าเด็กหญิงเล็กตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ค.3 เป็นบุตรของผู้ตายกับนางสำราญซึ่งก็คือผู้คัดค้านในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ผู้ตายได้แสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตาย โดยผู้ตายได้บันทึกสลักหลังกรมธรรม์ตามสำเนาเอกสารหมาย ค.5 ว่า นายวิชัย แซ่ลี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการผู้รับประโยชน์เป็นนางสาววารี ญาณจินดา ผู้คัดค้านซึ่งเกี่ยวข้องเป็นบุตร โดยเอกสารแผ่นที่ 2 ผู้ตายได้เขียนข้อความขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขกรมธรรม์ด้วยลายมือตนเองและลงลายมือชื่อในฐานะผู้เอาประกัน ผู้ร้องก็เบิกความรับว่าผู้ตายมีบุตรกับนางสำราญเป็นหญิงหากมีชีวิตอยู่จะมีอายุประมาณ 30 ปี ที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องว่าผู้ตายไม่มีภริยาและบุตรนั้น จึงขัดกับคำเบิกความของผู้ร้องไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิชัย แซ่ลี้หรือญาณจินดา ผู้ตายผู้คัดค้านจึงเป็นผู้นำสืบสันดานของผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ส่วนผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายเป็นทายาทโดยลำดับ (3) ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นผู้ออกเงินค่าทำศพผู้ตาย และเป็นเจ้าหนี้กองมรดกผู้มีส่วนได้เสียก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ