แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นได้เบียดบังยักยอกเช็คพิพาท โจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านในความผิดฐานยักยอก และอ้างว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาขัดแย้งกันไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินของบริษัทไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายและได้นำเงินส่วนที่เหลือมาคืน กรณีจึงเป็นยักยอกทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายโดยเจตนาทุจริต ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรให้ชัดเจน แม้โจทก์จะมีคำขอในท้ายอุทธรณ์ว่า ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องก็ตาม อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อหานี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของบริษัทเทาซันด์ส สไมลส ทราเวล จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2541 จำเลยโดยเจตนาทุจริตเบียดบังเช็ค 25 ฉบับ เข้าบัญชีของบริษัท เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้ง 25 ฉบับ รวมเป็นเงิน 5,945,959 บาท ที่ลูกค้าของบริษัทเทาซันด์ส สไมลส ทราเวล จำกัด สั่งจ่ายชำระหนี้ให้บริษัท จำเลยครอบครองเช็ค 25 ฉบับ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของบริษัท มีหน้าที่ต้องนำเช็คทั้ง 25 ฉบับ เข้าบัญชีของบริษัท เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้ง 25 ฉบับ แล้วนำเงินที่เก็บได้เข้าบัญชีของบริษัท แต่จำเลยกลับเบียดบังนำเช็ค 25 ฉบับ ไปเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลยและเบียดบังเอาเงินตามเช็คทั้ง 25 ฉบับไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยหรือบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยได้รับความเสียหาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นเหตุให้เช็คทั้ง 25 ฉบับ ไร้ประโยชน์เพราะไม่สามารถนำมาใช้เรียกเก็บเงินได้อีก จึงเป็นการเอาไปเสีย ทำให้เสียหายไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 352, 353, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 มาด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบมานั้นยังไม่พอรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทได้เบียดบังยักยอกเช็คพิพาท 25 ฉบับ เป็นเงิน 5,945,959 บาท ดังโจทก์ฟ้อง โจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในความผิดฐานยักยอกดังกล่าว และอ้างว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาขัดแย้งกันไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินของจำเลย (ที่ถูกน่าจะเป็นบริษัท) ไปจ่ายค่าใช้จ่าย และได้นำเงินส่วนที่เหลือมาคืน กรณีจึงเป็นยักยอกทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายโดยจำเลยกระทำปด้วยเจตนาทุจริต ซึ่งล้วนแต่เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานยักยอกเท่านั้น ไม่ได้บรรยายโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ในท้ายอุทธรณ์โจทก์ได้บรรยายมาแล้วว่าหากจะฟังตามข้ออ้างของจำเลยย่อมทำให้ระบบการควบคุมหรือระบบมอบหมายให้ดูแลงานแทนเสียไปก็เป็นเพียงการสรุปข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ในความผิดฐานยักยอกที่โจทก์กล่าวมาในอุทธรณ์ของโจทก์ข้างต้น ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ไม่ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรให้ชัดเจน แม้โจทก์จะมีคำขอในท้ายอุทธรณ์ว่าขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงเหตุผลว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อหานี้ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน