แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย ก็ไม่สิ้นสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1628 ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย
ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ไม่จำต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรงของผู้ตาย เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษ จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของผู้ตาย ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเชาวศักดิ์ โชติชมภูพงษ์ ซึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเชาวศักดิ์ผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับนายเชาว์ศักดิ์ผู้ตายมีทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้และหนี้สินหลายรายการที่เกี่ยวพันกับทรัพย์มรดกผู้ตายซึ่งต้องร่วมรับผิดชอบและจัดการ ผู้ร้องมิได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายกว่า 10 ปีแล้วย่อมไม่ทราบถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายว่ามีอยู่อย่างไรอาจเกิดความเสียหายได้ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเชาวศักดิ์ผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายเนื่องจากผู้ตายถือทรัพย์มรดกของบิดามารดาที่ยังไม่ได้แบ่งแทนทายาททั้งหมดไว้ด้วย และมีหนี้สินเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกที่ต้องจัดการ ผู้ร้องแยกกันอยู่กับผู้ตายมานานแล้ว ย่อมไม่รู้จักกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือผู้คัดค้านอื่นด้วย
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย และเป็นผู้รับพินัยกรรมของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 3 ขอถอนคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเชาวศักดิ์ โชติชมภูพงษ์ ผู้ตายร่วมกัน โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน และผู้ตายมีบุตรกับนางสำเภา เจริญก้อย อีก 4 คน ผู้ร้องแยกกันอยู่กับผู้ตายเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยผู้ร้องไปอยู่กับบุตรที่กรุงเทพมหานคร ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2543 โดยมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ บิดามารดาผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านที่ 1 มาเป็นเวลา 10 ปีเศษ จนถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายกึ่งหนึ่งในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เดียวที่ครอบครองที่ทรัพย์สินทั้งหมดและทราบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกันดังกล่าวของผู้ตายดี ส่วนผู้ร้องไม่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตาย ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว หรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 2 นั้น เห็นว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายแม้จะแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย จึงไม่สิ้นสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1628 ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย จึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีส่วนได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย หากผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินของผู้ตายอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาเป็นคดีต่างหากได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้” ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1713 ดังกล่าวหาจำต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรงของผู้ตายไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษ จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อปี 2543 ระหว่างมีชีวิตผู้ตายได้ค้ำประกันหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ด้วย กรณีเชื่อได้ว่าผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของผู้ตายและเป็นผู้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายดี ดังนั้นเพื่อเป็นประโยชน์แห่งการจัดทรัพย์สินของผู้ตายและเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกผู้คัดค้านที่ 1 จึงเหมาะสมที่จะร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการร่วมกันนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกกับผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นข้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา ไม่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ