แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ระหว่างที่โจทก์ขายที่ดินพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยในมาตรา 3 (5) กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเป็นการขายอสังริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนบุคคลที่เป็นผู้ขายและมีหน้าที่เสียภาษีนั้น หมายถึงบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 91/1 วรรคสอง ประกอบมาตรา 77/1 คือบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคล การขายที่ดินที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามีไว้ในการประกอบกิจการจึงเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว แม้ภายหลังจะมีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ออกมาบังคับใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 ก็ไม่มีผลลบล้างการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่มีผลสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ภาษีธุรกิจเฉพาะอันเกิดจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้พึงประเมินของผู้ประกอบธุรกิจเฉพาะนั้นๆ โดยผู้ประกอบกิจการจะต้องไปยื่นชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของโจทก์ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อโจทก์เพิกเฉยไม่ทำหน้าที่ตามบทกฎหมายกำหนดไว้จนกระทั่งกรมสรรพากรจำเลยได้รับรายงานการซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากกรมที่ดินและทำการตรวจสอบประเมินภาษีในภายหลัง โจทก์จะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของจำเลยไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลภาษีอากรกลางสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกนายสุพจน์ มโนมัยพันธุ์ ว่าโจทก์ที่ 1 เรียกนางสุณี มโนมัยพันธุ์ ว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า ระหว่างปี 2520 ถึง 2531 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 69713 ถึง 69718, 69707 ถึง 69710, 2852 และ 2835 ตำบลบางซื่อ (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ส่วนโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 69706, 69711, 69712, 69719 และ 69720 ในท้องที่เดียวกันกับโจทก์ที่ 1 ระหว่างปี 2520 ถึง 2527 โจทก์ทั้งสองขายที่ดินดังกล่าวแก่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 ในราคา 242,000,000 บาท และ 28,000,000 บาท โดยหักภาษีเงินได้และเสียอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว ครั้นวันที่ 23 มิถุนายน 2543 จำเลยแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเดือนภาษีกันยายน 2540 ให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น 31,637,960.83 บาท และแจ้งการประเมินภาษีประเภทเดียวกันในเดือนภาษีเดือนเดียวกันให้โจทก์ที่ 2 ชำระค่าภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น 5,348,981.30 บาท ทั้งที่โจทก์ทั้งสองมิได้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 และมิเป็นนิติบุคคลตามความมุ่งหมายของพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะค้าขายขี้เลื่อยและเศษไม้ แต่ก็เป็นการซื้อจากโรงเลื่อยและขายตรงแก่ลูกค้ามิได้เก็บไว้บนที่ดินทั้ง 17 แปลง นั้น หากมีเศษเหลือก็คงเก็บไว้บนรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 69716 ถึง 69718 ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งใช้เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น ส่วนที่ดินอีก 9 แปลง รวมทั้งที่ดิน 5 แปลง ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งซื้อมาเพื่อเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทนั้นยังคงว่างเปล่ามิได้มีการปรับปรุง พัฒนาแบ่งแยกโฉนด หรือใช้ในการประกอบกิจการ ทั้งยังเป็นการขายหลังจากได้ที่ดินแต่ละแปลงมาเกินกว่า 5 ปี แล้วทั้งสิ้น จึงได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3 (6) ในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บ เบี้ยปรับเงินเพิ่ม ภาษีส่วนท้องถิ่น คงเรียกเก็บจากโจทก์ทั้งสองเพียง 19,925,070 บาท และ 5,348,981.30 บาท แต่โจทก์ทั้งสองใช้ประโยชน์จากที่ดินเพียง 3 แปลง ดังกล่าวข้างต้นหากจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะก็ควรเสียเฉพาะที่ดิน 3 แปลง นี้เท่านั้น ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวหรือพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับ เงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2511 และได้ที่ดินทั้ง 17 แปลง ซึ่งมีเนื้อที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกันมาในระหว่างสมรส ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเลขที่ 1560 ซอยเรียงปรีชา ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์ทั้งสองใช้พักอาศัยและใช้ประโยชน์ในกิจการค้าไม้ ขี้เลื่อย รวมทั้งอู่ซ่อมรถยนต์ สร้างห้องอบสี อาคารสำนักงาน 2 หลัง โกดังเก็บสินค้า 4 หลัง ห้องเอกนกประสงค์ ห้องประชุม โดยเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หนา 30 เซนติเมตร เต็มเนื้อที่ทั้งหมด รวมทั้งใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัทโม้วฮวดอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงเลื่อย โรงไสไม้ บริษัทร่วมเสริมลาภ ม.ฮ. จำกัด ซึ่งรับซ่อมรถยนต์ และบริษัทโกลด์เด้นไตรแองเกิลฟอเรสตรี้ จำกัด นอกจากนั้นยังจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ส่วนตัวและหนี้ของบริษัทดังกล่าวต่อสถาบันการเงิน โจทก์ที่ 1 ให้บริษัทโกลด์เด้นไตรแองเกิลฟอเรสตรี้ จำกัด ซึ่งตนมีอำนาจดำเนินการแทนเช่าอาคารและที่ดินของโจทก์ทั้งสองในราคาเดือนละ 50,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองขายที่ดินทั้ง 17 แปลง แก่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 16 กันยายน 2540 จึงตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ซึ่งใช้บังคับแก่บุคคลธรรมดาด้วย เพราะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ และชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มิใช่อยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 เมื่อโจทก์ทั้งสองละเลยเสียจึงต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่จำเลยทำหนังสือแจ้งการประเมินตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 50 แล้วโดยไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดลงอีก ส่วนเงินเพิ่มนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดให้งดหรือลดได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความรวมสองสำนวนเป็นเงิน 15,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองขายที่ดินรวม 17 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 69713 ถึง 69718, 69707 ถึง 69710, 2852 และ 2835 ของโจทก์ที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 69706, 69711, 69712, 69719 กับ 69720 ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีเนื้อที่ต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกันแก่กรุงเทพมหานครในราคา 242,000,000 บาท และ 28,000,000 บาท เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 โดยยกสิ่งปลูกสร้างพร้อมอุปกรณ์บนที่ดินรวมมูลค่า 50,493,200 บาท ให้แก่กรุงเทพมหานครโดยไม่คิดมูลค่า ในขณะที่กรุงเทพมหานครชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 270,000,000 บาท ณ ที่จ่ายแทนโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จำเลยจึงแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 60 และ 44 ต่อมาภายหลังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 50 ตามเอกสารฉบับดังกล่าวแผ่นที่ 1 และ 2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า ที่ดินทั้ง 17 แปลง และสิ่งปลูกสร้างอยู่ในสภาพที่ใช้พักอาศัยหรือประกอบกิจการเพียงใด โจทก์ทั้งสองต่างอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานว่าพวกตนซื้อที่ดินทั้ง 17 แปลง ไว้เพื่อเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทขณะเดียวกันก็ใช้ที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 69716 ถึง 69718 เป็นที่อยู่อาศัยและลานจอดรถยนต์บรรทุกประมาณ 13 คัน ที่โจทก์ที่ 1 ใช้ในกิจการค้าขี้เลื่อยและเศษไม้เท่านั้น แม้ที่ดินทั้งหมดจะมีเนื้อที่ต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกัน แต่ก็มิได้มีการข้องแวะหรือใช้สอยที่ดินอีก 9 แปลง ของโจทก์ที่ 1 รวมทั้งที่ดิน 5 แปลง ของโจทก์ที่ 2 ด้วย แต่ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่าตนได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในการประกอบธุรกิจขายขี้เลื่อยและเศษไม้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยเพิ่งเลิกประกอบกิจการดังกล่าวในปี 2540 นอกจากนั้นยังยอมรับข้อเท็จจริงในการตอบคำถามค้านว่า ปลูกสร้างโกดังขึ้น 2 หลัง ตามใบอนุญาตก่อสร้างเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 77 ถึง 79 บ้านเลขที่ 1560 ที่เป็นที่พักอาศัยของโจทก์ทั้งสองก็ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทโม้วฮวดอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเดิมขายแต่ขี้เลื่อยกับเศษไม้ ต่อมาขยายกิจการรับไสไม้ด้วยตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 159 บริษัทร่วมเสริมลาภ ม.ฮ. จำกัด ซึ่งเดิมซ่อมแต่เฉพาะรถยนต์บรรทุกที่ใช้ในธุรกิจค้าขี้เลื่อยและเศษไม้ต่อมาจึงขยายกิจการรับซ่อมรถของบริษัทประกันภัยด้วยตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 34 และเป็นภูมิลำเนาจดทะเบียนของบริษัทโกลด์เด้นไตรแองเกิลฟอเรสตรี้ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจนำเข้าไม้จากต่างประเทศตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 28 โดยโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเหล่านั้น ที่ดินทั้ง 17 แปลง นี้มีรั้วล้อมรอบและเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ส่วนโจทก์ที่ 2 ก็รับข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันในการตอบคำถามค้านว่าในส่วนที่ดิน 5 แปลง ของตนนั้นมีการก่อสร้างโครงหลังคาคลุมไว้ 2 หลัง ตามใบอนุญาตก่อสร้างเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 78 และ 79 โดยตนเป็นกรรมการบริษัทโม้วฮวดอุตสาหกรรม จำกัด กับบริษัทร่วมเสริมลาภ ม.ฮ. จำกัด ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวด้วยเจือสมคำพยานจำเลยซึ่งมีนางสาวมาลี หิรัญรัตนากร นางกัญญา วราหกิจ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ได้ข้อเท็จจริงจากนางสาวรุ่งทิพย์ กันตถาวร ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสองรวมทั้งเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่โจทก์ทั้งสองส่งมอบตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 111 ถึง 116 และ ล.3 แผ่นที่ 1 ถึง 141 ว่าโจทก์ทั้งสองใช้บ้านเลขที่ 1560 เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการค้าของบริษัทโม้วฮวดอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของตนและบริษัทร่วมเสริมลาภ ม.ฮ. จำกัด ซึ่งโจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รวมทั้งให้บริษัทโกลด์เด้นไตรแองเกิลฟอเรสตรี้ จำกัด ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเช่าเป็นที่ตั้งสำนักงานในราคาเดือนละ 50,000 บาท สภาพที่ดินต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกันตามรูปแบบที่เอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 29 ถึง 30 เดิมใช้ประกอบกิจการขายขี้เลื่อยและเศษไม้ ต่อเติมอาคารเป็นโรงรถ อู่ซ่อมรถ โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าส่วนใดใช้ประกอบกิจการหรือไม่ อย่างไร โดยนางสาวมาลียืนยันว่าในชั้นที่ไปให้การต่อคณะอนุกรรมาธิการที่รัฐสภา โจทก์ที่ 1 รับว่าให้บริษัทโกลด์เด้นไตรแองเกิลฟอเรสตรี้ จำกัด เช่าที่ดินทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็นที่ตั้งบริษัทร่วมเสริมลาภ ม.ฮ. จำกัด พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ที่ศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า ที่ดินทั้ง 17 แปลง และสิ่งปลูกสร้างอยู่ในสภาพที่โจทก์ทั้งสองใช้เป็นที่พักอาศัยและใช้ในการประกอบกิจการทั้งหมดทุกแปลงจึงชอบแล้ว ข้อโต้แย้งตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ว่า ร้อยตรีสุรพล ไพศาลศิลป์ พยานโจทก์ไปตรวจสอบสภาพที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างหลังจากกรุงเทพมหานครเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 17 แปลง นานถึง 2 ปี แล้วนั้นไม่มีผลกระทบต่อน้ำหนักพยานหลักฐานของจำเลยแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การขายที่ดินตามฟ้องตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า ระหว่างเวลาที่โจทก์ทั้งสองขายที่ดินตามฟ้องนั้นพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะโดยในมาตรา 3 (5) กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนบุคคลที่เป็นผู้ขายและมีหน้าที่เสียภาษีนั้นหมายถึงบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 91/1 วรรคสอง ประกอบมาตรา 77/1 คือบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคล เพราะมิได้มีบทนิยามไว้โดยเฉพาะให้หมายถึงแต่นิติบุคคลดังที่โจทก์ทั้งสองหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ การขายที่ดินที่โจทก์ทั้งสองมีไว้ในการประกอบกิจการจึงเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวโดยประการทั้งปวง แม้ภายหลังจะมีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ออกมาบังคับใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง ก็เป็นเพียงกรณีที่รัฐประสงค์จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีตามนโยบายเท่านั้น ไม่มีผลลบล้างบทบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่มีผลสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางในปัญหาข้อนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ต้องวินิจฉัยมีว่า มีเหตุควรงดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่นั้น โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ในปี 2540 ที่โจทก์ทั้งสองขายที่ดินนั้น จำเลยเป็นฝ่ายละเลยไม่เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์ทั้งสองตามหน้าที่ โจทก์ทั้งสองเข้าใจโดยสุจริตว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีประเภทดังกล่าว แต่ 3 ปี ให้หลังจึงมีการกลับมาเรียกเก็บภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ปัดภาระความรับผิดแก่โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะอันเกิดจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองมีไว้ในการประกอบกิจการเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรนั้น เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้พึงประเมินของผู้ประกอบธุรกิจเฉพาะนั้นๆ โดยผู้ประกอบกิจการจะต้องไปยื่นชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อโจทก์ทั้งสองเพิกเฉยไม่ทำหน้าที่ตามบทกฎหมายกำหนดไว้จนกระทั่งจำเลยได้รับรายงานการซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากกรมที่ดินและทำการตรวจสอบประเมินภาษีในภายหลังเช่นนี้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของจำเลยไม่ได้ เมื่อข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ทั้งสอง คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางในปัญหาข้อนี้ชอบแล้วเช่นกัน อุทธรณ์ข้อสุดท้ายของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความรวมกันมา โดยไม่แยกเป็นรายสำนวนไม่ถูกต้อง เพราะสำนวนที่ 1 โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นคู่ความและสำนวนที่ 2 โจทก์ที่ 1 มิได้เป็นคู่ความ จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยโดยในสำนวนแรกให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าทนายความรวม 30,000 บาท และสำนวนที่ 2 ให้โจทก์ที่ 2 ใช้ค่าทนายความรวม 15,000 บาท แทนจำเลย