แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อาวุธปืนพกของกลางและกระสุนปืนของกลางเป็นของผู้ตาย ส่วนเสื้อยืดของกลางเป็นของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบและมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 จึงไม่อาจริบได้
จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยจำเลยที่ 1 มีและใช้อาวุธปืนเพื่อกระทำความผิด ต้องตาม ป.อ.มาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี แต่มาตรา 340 ตรี เป็นเพียงบทกำหนดโทษไม่ใช่บทเพิ่มโทษ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตตามมาตรา 339 วรรคท้าย กรณีไม่มีทางที่จะวางโทษกึ่งหนึ่งตามที่มาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้ จึงนำมาตรา 340 ตรี มาบัญญัติด้วยไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตาม มาตรา 339 วรรคท้ายเท่านั้น
ในการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ป.อ. มาตรา 91 ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน การเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ต้องเพิ่มโทษทุกกระทงของความผิด เว้นแต่ในความผิดฐานใดที่ศาลลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกเกินห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 51 ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอเพิ่มโทษ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้วินิจฉัยและแก้ไขในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลจึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 288, 289, 339, 340 ตรี, 371 ริบอาวุธปืนลูกซองยาว ปลอกกระสุนปืนลูกซองกับหมอนรองกระสุนปืนลูกซองของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6), 339 วรรคสอง และห้า, 340 ตรี, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) กระทงแรกจำคุกตลอดชีวิต กระทงที่สองถึงกระทงที่สี่ จำคุกกระทงละ 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้ว ให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบอาวุธปืนลูกซองยาว ปลอกกระสุนปืนลูกซองและหมอนรองกระสุนปืนลูกซองของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี สำหรับโทษ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ และชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้อง แต่อาวุธปืนพกของกลางและกระสุนปืนของกลางเป็นของผู้ตาย ส่วนเสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีดำของกลาง เป็นของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบและมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 จึงไม่อาจริบได้ และเห็นสมควรคืนอาวุธปืนพกของกลางให้แก่ทายาทของผู้ตายและคืนเสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีดำของกลางให้แก่จำเลยที่ 2
อนึ่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยจำเลยที่ 1 มีและใช้อาวุธปืนเพื่อกระทำความผิด ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี แต่มาตรา 340 ตรี เป็นเพียงบทกำหนดโทษไม่ใช่บทเพิ่มโทษ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตตามมาตรา 339 วรรคท้าย กรณีไม่มีทางที่จะวางโทษกึ่งหนึ่งตามที่มาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้ จึงนำมาตรา 340 ตรี มาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามมาตรา 339 วรรคท้ายเท่านั้น ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) กระทงแรกจำคุกตลอดชีวิต กระทงที่สองถึงกระทงที่สี่ จำคุกกระทงละ 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้ว ให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบอาวุธปืนลูกซองยาว ปลอกกระสุนปืนลูกซองและหมอนรองกระสุนปืนของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก ซึ่งรวมถึงยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ด้วยนั้นยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากในการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน การเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ต้องเพิ่มทุกกระทงของความผิด เว้นแต่ในความผิดฐานใดที่ศาลลงโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเกินห้าสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอเพิ่มโทษ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้วินิจฉัยและแก้ไขในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212, 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย โดยไม่ปรับบทลงโทษตามมาตรา 340 ตรี ด้วย และให้คืนอาวุธปืนพกของกลาง และกระสุนปืนของกลางของผู้ตายแก่ทายาทของผู้ตาย และคืนเสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีดำของกลางแก่จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.