คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904-5911/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน อ้างว่าผู้คัดค้านกระทำความผิดที่สมควรจะเลิกจ้าง อันเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเกิดขึ้นจริงและเหตุนั้นเป็นเหตุที่สมควรจะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ เว้นแต่ผู้คัดค้านยอมรับในข้อเท็จจริงใด ศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริงนั้นโดยผู้ร้องไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดง ทั้งนี้ผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้คัดค้านไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ที่ต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ คดีนี้หลังจากผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านแล้ว ศาลแรงงานได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านหรือไม่ เพียงใด โดยให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน แล้วให้ผู้คัดค้านสืบแก้ แสดงว่าศาลแรงงานเห็นว่า ผู้คัดค้านมิได้ยอมรับว่ามีเหตุตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเกิดขึ้น และกรณีสมควรที่จะฟังพยานหลักฐานของผู้คัดค้านประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้ร้องด้วยซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจที่จะกระทำได้ ผู้คัดค้านจึงมีสิทธินำพยานเข้าสืบและศาลแรงงานสามารถนำพยานหลักฐานของผู้คัดค้านมาใช้ประกอบการวินิจฉัย อันเป็นกรณีที่จะต้องรับฟังจากพยานหลักฐานอื่นต่อไป ซึ่งพยานหลักฐานอื่นที่ศาลแรงงานนำมารับฟังดังกล่าวล้วนเป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากการนำสืบของผู้ร้องทั้งสิ้น การรับฟังพยานหลักฐานและการวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ย่อยาว

คดีทั้งแปดสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ 6493/2541 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งผู้ร้องขอถอนคำร้องไปแล้ว โดยเรียกผู้คัดค้านทั้งแปดสำนวนนี้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 และผู้คัดค้านที่ 8 ที่ 9 ตามลำดับ
ผู้ร้องทั้งแปดสำนวนยื่นคำร้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่าขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งแปดโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ยื่นคำร้อง
ผู้คัดค้านทั้งแปดสำนวนยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างการสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านแถลงรับว่าพนักงานของผู้ร้องได้ชุมนุมประท้วงอยู่ที่ทางเข้าออกโรงงาน โดยผู้คัดค้านทั้งแปดอยู่ในที่ชุมนุมและแจกเอกสารในวันดังกล่าวด้วย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ตั้งแต่เวลาประมาณ 17 นาฬิกาเป็นต้นไป
ศาลแรงงานกลางพิพากษาคำร้อง
ผู้ร้องทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งแปดอ้างว่าผู้คัดค้านทั้งแปดกระทำความผิดที่สมควรจะเลิกจ้าง อันเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ซึ่งผู้ร้องจะต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเกิดขึ้นจริงและเหตุนั้นเป็นเหตุที่สมควรจะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งแปดได้ เว้นเสียแต่ว่าผู้คัดค้านทั้งแปดยอมรับในข้อเท็จจริงใด ศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริงนั้นโดยผู้ร้องไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดง แต่ทั้งนี้ผู้คัดค้านทั้งแปดจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาหรือไม่ก็ได้ และคำคัคค้านของผู้คัดค้านทั้งแปดไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ที่ว่า จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ มิฉะนั้นจะทำให้คดีไม่เกิดประเด็นข้อพิพาท และผู้คัดค้านทั้งแปดไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบเพราะต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องดังอุทธรณ์ของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าหลังจากผู้คัดค้านทั้งแปดยื่นคำคัดค้านแล้ว ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งแปดหรือไม่ เพียงใด ไว้ด้วย ทั้งยังระบุว่าให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อนแล้วให้ผู้คัดค้านทั้งแปดสืบแก้ แสดงว่าศาลแรงงานกลางเห็นว่าผู้คัดค้านทั้งแปดมิได้ยอมรับว่ามีเหตุตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเกิดขึ้น และกรณีสมควรที่จะฟังพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งแปดประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้ร้องด้วย ซึ่งศาลแรงงานกลางมีอำนาจที่จะกระทำได้ ผู้คัดค้านทั้งแปดจึงมีสิทธินำพยานเข้าสืบและศาลแรงงานกลางสามารถนำพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งแปดมาใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านทั้งแปดเป็นผู้จัดทำและแจกคำแถลงการณ์และคำชี้แจงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดจริงหรือไม่ได้และคดีนี้ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งแปดแถลงรับข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าได้อยู่ในที่ชุมนุมและเป็นผู้แจกเอกสาร ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นเอกสารที่พิพาทหรือไม่ ทั้งผู้คัดค้านทั้งแปดมิได้ยอมรับว่าเป็นผู้จัดทำเอกสารดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จะต้องรับฟังจากพยานหลักฐานอื่นต่อไป ซึ่งพยานหลักฐานอื่นที่ศาลแรงงานกลางนำมารับฟังดังกล่าวล้วนเป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากการนำสืบของผู้ร้องทั้งสิ้น การรับฟังพยานหลักฐานและการวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานกลางจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งแปดสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share