แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับธนาคารมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป และยอมให้ธนาคารมีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควรโดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้กู้ก่อน ทั้งสัญญาข้อ 3 ด้วยว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงตามข้อ 2 และค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ผู้กู้ตกลงให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับเงินต้น และให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาในข้อ 2 สัญญากู้เงินดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดในอัตราที่สูงขึ้นหรือแยกต่างหากจากอัตราตามสัญญาข้อ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยความในตอนท้ายของมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะนำมาปรับแก่คดีเพื่อให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ธนาคารประกาศกำหนด
ตามสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้งวดเดือนธันวาคม 2540 แล้ว การชำระหนี้งวดต่อไปต้องชำระภายในวันสิ้นเดือนของเดือนมกราคม 2541 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโดยไม่เคยโต้แย้งว่าธนาคารคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การคิดดอกเบี้ยและการประกาศหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ธนาคารกระทำไปฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงแต่ชำระเงินเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ เมื่อธนาคารไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเนื่องจากข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่ธนาคารไปแล้วทั้งหมดหักออกจากต้นเงิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์โดยได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 โจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพพร้อมหลักประกันมาจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาสตูล 110,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และยอมให้ธนาคารมีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควรโดยไม่ต้องบอกกล่าวจำเลยก่อน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 921 และ 922 ไว้แก่ธนาคารเพื่อเป็นประกันหนี้ จำเลยที่ 1ผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 ปรากฏว่า ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระต้นเงิน 107,387.41 บาท กับดอกเบี้ย 10,516.43 บาท ซึ่งธนาคารคิดดอกเบี้ยต่อไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2541 อันเป็นวันที่ธนาคารหยุดทำธุรกรรมโจทก์จึงคิดดอกเบี้ยต่อจากนั้นตลอดมาโดยนับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยรวม 146,299.75 บาท รวมกับเงินต้นแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 253,687.16 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมรับผิดด้วยโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 253,687.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี ในต้นเงิน 107,387.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองรวมตลอดทั้งยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 110,000 บาท แต่ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วนับแต่วันกู้ยืมเงินจนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่ธนาคารเป็นครั้งสุดท้ายหักออกจากต้นเงิน 110,000 บาท ดังกล่าว ต้นเงินที่เหลือหลังจากหักเงินที่ชำระออกแล้วให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 921 และ 922 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่บังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพพร้อมหลักประกันมาจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสี่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาสตูล 110,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้ สัญญากู้เงินมีข้อตกลงให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญา ซึ่งเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารประกาศกำหนดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 และเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินตกเป็นโมฆะ แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินธนาคารยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายอแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ความในตอนท้ายของมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่าถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อปรากฎว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดไว้สูงกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.25 ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เห็นว่า สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับธนาคารตามเอกสารหมาย จ.8 คงมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไปและยอมให้ธนาคารมีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควรโดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้กู้ก่อน ทั้งสัญญาข้อ 3 ยังระบุด้วยว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงตามข้อ 2 และค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ผู้กู้ตกลงให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงิน และให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาในข้อ 2 สัญญากู้เงินดังกล่าวหาได้มีข้อตกลงในธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดในอัตราที่สูงขึ้นหรือแยกต่างหากจากอัตราตามสัญญาข้อ 2 แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยความในตอนท้ายของมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะนำมาปรับแก่คดีเพื่อให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ธนาคารประกาศกำหนดดังที่โจทก์อุทธรณ์ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 หลังจากนั้นมิได้ชำระอีกจำเลยที่ 1 จึงผิดนัดมาตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2540 แล้วนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้งวดเดือนธันวาคม 2540 แล้ว การชำระหนี้งวดต่อไปต้องชำระภายในวันสิ้นเดือนของเดือนมกราคม 2541 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดนับแต่วันที่ 14 กันยายน 2548 จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ในประการสุดท้ายที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้แก่ธนาคารไปแล้วทั้งหมดมาหักออกจากต้นเงิน 110,000 บาท เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโดยไม่เคยโต้แย้งว่าธนาคารคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยและการประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ธนาคารกระทำไปฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงแต่ชำระเงินเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเมื่อธนาคารไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเนื่องจากข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่ธนาคารไปแล้วทั้งหมดหักออกจากต้นเงิน ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การต่อสู้คดีตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวบกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และแม้ว่าธนาคารจะนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปหักชำระต้นเงินด้วยแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการหักชำระดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วทั้งหมดหักออกจากต้นเงินจำนวน 110,000 บาท จึงถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่เหลือหลังจากหักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้ว นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.