แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ จำเลยมีทนายความและรูปคดีไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน ย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปอีก 3 วัน โดยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นแต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 3 เดือน ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ครั้นวันที่ 20 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันศุกร์ ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้น แต่ระหว่างเดินทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนด ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 3 วัน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เหตุที่จำเลยอ้างไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 ในเบื้องต้นจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนด 1 เดือน คือวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ต่อมาในวันครบกำหนดอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 จำเลยมีทนายความและรูปคดีของจำเลยไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน จำเลยย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้น แต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.