คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7124/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2544 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีจึงที่สุดแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ขอให้ศาลเพิกถอนคำพิพากษาตามยอม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอีกว่า โจทก์ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจะให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมอย่างไรจึงจะเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับคดี การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบังคับคดีให้แก่โจทก์จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ ซึ่งตามคำร้องดังกล่าวของโจทก์เป็นคำร้องที่ยื่นในชั้นบังคับคดี คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ ไม่อยู่บังคับของมาตรา 138
โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) โจทก์กลับเลือกที่จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความของโจทก์ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งการที่โจทก์จะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ต้องเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 138 วรรคสอง และต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง ตามมาตรา 229 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในกำหนดเวลาดังกล่าว กลับยื่นคำร้องลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม โดยไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์กระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้วินิจฉัยเพราะต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมีข้อตกลงให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 4 ห้อง จากบริษัทรุ่งฟ้าวิลล่า จำกัด แล้วนำไปจำนองเป็นประกันในการกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ เงินที่โจทก์ได้รับจากธนาคารเป็นที่ตกลงกันว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องจากจำเลยทั้งหมดแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผ่อนชำระหนี้ที่โจทก์เป็นผู้กู้ยืมแก่ธนาคารจนกว่าจะหมดหนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วนเมื่อใด โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้ง 4 ห้อง คืนแก่บริษัทรุ่งฟ้าวิลล่า จำกัด ทันที เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมาโจทก์ได้ไปขอกู้เงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ เพื่อดำเนินการตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ปรากฏว่าธนาคารไม่ให้โจทก์กู้เงิน และโจทก์ได้ดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารอีกหลายแห่ง แต่ปรากฏว่าทุกธนาคารปฏิเสธคำขอของโจทก์ จึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ โจทก์จึงมายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามคำฟ้องเดิมที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีตามคำร้องไม่อาจที่จะเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับโจทก์อุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกอุทธรณ์โจทก์อ้างว่าต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2544 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมคดีจึงถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ขอให้ศาลเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมที่ไม่อาจปฏิบัติตามได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอีกว่า โจทก์ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้เนื่องจากธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ เป็นบุคคลที่ 3 ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีได้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจะให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมอย่างไรจึงจะเป็นการชอบด้วยกฎหมาย เพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการต่อไป ซึ่งตามคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ กลับแจ้งให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบังคับคดีให้แก่โจทก์จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ ซึ่งตามคำร้องดังกล่าวของโจทก์เป็นคำร้องที่ยื่นในชั้นบังคับคดี คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) โจทก์กลับเลือกที่จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความของโจทก์ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 โดยให้ยกคำร้อง ซึ่งการที่โจทก์จะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดข้อหนึ่งเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ที่โจทก์สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ โจทก์ก็ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แต่โจทก์หาได้อุทธรณ์ในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ กลับยื่นคำร้องลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวโดยไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์กระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้วินิจฉัยเพราะต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง จึงไม่ชอบ อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงทุกอย่างครบถ้วนแล้วจึงเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก และเห็นว่าคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่อาจกระทำได้เพราะคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว กรณีของโจทก์จึงเป็นเรื่องชั้นบังคับคดีที่ไม่อาจบังคับได้โดยตรง ก็น่าที่จะบังคับในลักษณะใกล้เคียงได้ อันเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยื่นคำร้องใหม่ให้ถูกต้องต่อไป
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมให้ครบถ้วน คงสั่งเฉพาะให้คืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ โดยมิได้สั่งเรื่องค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share