แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า
โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้
การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2534 ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาในเดือนเมษายน 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพร ป๋าเมืองมูล ฉันภริยาและมีบุตรด้วยกัน 1 คน โดยแสดงออกเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปว่านางสุภาพรเป็นภริยาของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความดูถูกเกลียดชัง โจทก์ขอหย่า แต่จำเลยไม่ยินยอม กลับทำร้ายร่างกายโจทก์และหมิ่นประมาทบุพการีโจทก์เป็นการร้ายแรง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ ความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ถ้าไม่ไปให้เอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาและมีบุตรด้วยกัน โจทก์เพียงแต่ตัดพ้อต่อว่าเล็กน้อย ในที่สุดก็ยอมรับความจริงทั้งให้อภัยในความผิดที่จำเลยทำ และยินยอมให้จำเลยอยู่กินกับนางสุภาพรเพราะโจทก์มีบุตรไม่ได้ โจทก์ทราบว่าจำเลยไปนอนค้างที่บ้านนางสุภาพรแต่ก็ไม่ได้ว่ากล่าวเอาความอะไร จำเลยมิได้กระทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า ญาติพี่น้อง เพื่อนของโจทก์และจำเลยทราบถึงสภาพการมีสองครอบครัวของจำเลยและโจทก์ การอยู่กินกับนางสุภาพรเป็นไปในลักษณะปิดบังซ่อนเร้นไม่ได้แสดงต่อสังคมทั่วไปว่าเป็นภริยา จำเลยยังให้เกียรติและยกย่องว่าโจทก์เป็นภริยา ทั้งนี้ได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์มาโดยตลอด ไม่เคยทำร้ายร่างกายโจทก์และหมิ่นประมาทโจทก์กับบุพการีของโจทก์ สิทธิฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุที่จำเลยมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ทราบเหตุดังกล่าว และโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างเป็นเหตุฟ้องหย่านั้นแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน จำเลยแถลงว่า จำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูนางสุภาพรฉันภริยาตั้งแต่ต้นปี 2531 หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน โจทก์ทราบเรื่องและไม่ติดใจที่จำเลยจะมีนางสุภาพรเป็นภริยาและให้อภัยจำเลยตลอดมา ส่วนโจทก์แถลงว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับนางสุภาพรในปี 2539 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจำเลยจะจริงจังกับนางสุภาพรหรือไม่ เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อเดือนเมษายน 2545 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยกับนางสุภาพรมีบุตรด้วยกัน โจทก์ไม่เคยอภัยจำเลยและรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยมีหญิงอื่น ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 กันยายน 2546
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครับวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้กันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยา จำเลยได้นางสุภาพร ป๋าเมืองมูล เป็นภริยาและมีบุตรด้วยกัน 1 คน อันเป็นการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาจนปัจจุบัน ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องคำให้การและข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2546 แล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 นั้น ไม่ชอบ เพราะข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรตามที่จำเลยให้การต่อสู้หรือไม่ ทั้งการที่มิได้มีการสืบพยานจึงไม่อาจทราบได้ว่าพยานที่งดสืบเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็นอย่างไร เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสืบพยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์จะสืบหรือไม่เพียงใด คดีนี้เมื่อพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำแถลงของโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 กันยายน 2546 แล้วเห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วว่า มีเหตุฟ้องหย่าประการใดประการหนึ่งตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ได้ยินยอมหรือให้อภัยเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้วหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้จะเป็นเพียงเหตุหย่าเหตุหนึ่งในจำนวนเหตุหย่าหลายเหตุตามฟ้องก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานหลักฐานโจทก์และจำเลย ซึ่งถือเสมือนว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยจะนำมาสืบนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า โจทก์ได้ยินยอมและให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพฉันภริยาแล้ว โจทก์จึงจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และสิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปตามมาตรา 1518 หรือไม่ เห็นว่า การยินยอมและให้อภัยตามบทกฎหมายดังกล่าวหมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า คดีนี้จำเลยให้การและฎีกาอ้างว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยาแล้ว โจทก์มิได้ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยเสียแต่แรกทั้งยังแสดงกริยาไม่เอาเรื่องเอาความ ยอมรับสถานการณ์มีสองภริยาของจำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำผิดของจำเลยแล้ว เห็นว่า เพียงพฤติการณ์ของโจทก์ตามข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าว โจทก์มิได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงออกให้ปรากฏโดยชัดแจ้งพอที่จะเห็นเจตนาของโจทก์ว่ายินยอมหรือให้อภัยแล้ว อย่างไรก็ตามปรากฏจากคำแถลงของโจทก์จำเลยในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 กันยายน 2546 ว่า โจทก์มิได้ยินยอมและให้อภัยในการกระทำของจำเลยแต่เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับนางสุภาพร เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับนางสุภาพรมีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับนางสุภาพร เนื่องจากขณะนั้นโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยจะอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา ข้อเท็จจริงจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุหย่าในมาตรา 1516 (1) ระงับไปเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุหย่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 หรือไม่ เห็นว่า การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องนางสุภาพรฉันภริยา เหตุฟ้องหย่ามาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยดังกล่าวมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.