แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งรู้ว่าจะมีผู้ซื้อเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นของผิดกฎหมายมาแต่ต้นแล้ว จำเลยที่ 3 ยังบอกกล่าวแนะนำทำให้จำเลยที่ 2 ตกลงใจโทรศัพท์ติดต่อและร่วมดำเนินการกับผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนมีการนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบให้แก่ ส. ยังที่เกิดเหตุ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานนี้ได้
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม จึงต้องใช้กฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4734/2543 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จำเลยที่ 2 พ้นโทษในคดีดังกล่าวมาแล้ว กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษและก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6579/2544 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ภายในกำหนดเวลาที่ศาลรอการลงโทษจำคุกในคดีดังกล่าว ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ริบของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6579/2544 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่งด้วย), 66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสามมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียว เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 21 ปี เพิ่มโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 31 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา และจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี 9 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 14 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6579/2546 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการเข้ากับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำคุก 10 ปี 12 เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ได้ไปพบสิบตำรวจโทสิงหโรจน์ และสายลับที่ร้านอาหารชั้นที่ 2 ของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีที่เกิดเหตุ ต่อมาได้มีนางอี๊ดและจำเลยที่ 2 มาร่วมพูดคุยด้วย แต่นางอี๊ดมีอาการมึนเมาสุรา สิบตำรวจโทสิงหโรจน์จึงบอกให้นางอี๊ดกลับไป จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนให้แก่สิบตำรวจโทสิงหโรจน์โดยนัดหมายให้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งที่บริเวณทางเข้าออกชั้นล่างของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีใกล้กับร้านอาหารเอ็ม เค ต่อมาได้มีจำเลยที่ 1 นำถุงผ้าสีน้ำเงินมาส่งให้แก่สิบตำรวจโทสิงหโรจน์ตรงบริเวณที่นัดหมาย สิบตำรวจโทสิงหโรจน์ตรวจดูพบว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนจึงส่งสัญญาณให้ว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุญเกื้อ กับพวกเข้าจับกุมจำเลยทั้งสามตามแผนการล่อซื้อจับกุมที่ตกลงกันไว้ พร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,600 เม็ดมีปริมาณคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 26.388 กรัม ที่บรรจุอยู่ในถุงผ้าดังกล่าวและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี และต่อมาศาลล่างทั้งสองได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 3 เข้ามาพบและบอกว่านางอี๊ดซึ่งเป็นบุคคลที่สิบตำรวจโทสิงหโรจน์และสายลับติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนให้มาดูเงินที่จะใช้ในการซื้อเมทแอมเฟตามีนก่อน และสิบตำรวจโทสิงหโรจนยอมให้จำเลยที่ 3 ดูเงินจำนวนดังกล่าว ก็เป็นวิสัยปกติที่บุคคลผู้ลักลอบซื้อขายยาเสพติดให้โทษครั้งละมาก ๆ จะพึงกระทำมิใช่เรื่องผิดปกติธรรมดา และหลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ได้โทรศัพท์ไปบอกนางอี๊ดและนางอี๊ดกับจำเลยที่ 2 จึงได้มาพบสิบตำรวจโทสิงหโรจน์ดังที่ได้ความตามคำเบิกความของว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุญเกื้อและสิบตำรวจโทสิงหโรจน์นั้น ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 รู้มาแต่ต้นแล้วว่าจะมีการลักลอบซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกัน และเมื่อโจทก์ยังมีบันทึกถ้อยคำและบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 มาสืบแสดงประกอบว่า เมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 2 ได้เขียนบันทึกและให้การในชั้นสอบสวนในทำนองเดียวกันว่า หลังจากสิบตำรวจโทสิงหโรจน์บอกให้นางอี๊ดกลับไปและสอบถามว่ารู้จักผู้ขายเมทแอมเฟตามีนรายอื่นอีกหรือไม่แล้ว จำเลยที่ 3 ได้บอกให้จำเลยที่ 2 ลองโทรศัพท์ติดต่อกับนายเอกซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกรายหนึ่งจนเป็นเหตุให้มีการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งมอบให้แก่สิบตำรวจโทสิงหโรจน์ในที่สุด ซึ่งแม้บันทึกและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ด้งกล่าวจะเป็นคำพยานบอกเล่าและมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็เป็นถ้อยคำที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้ภายหลังจากที่ถูกจับกุมแล้วเกือบจะทันที ไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด น่าเชื่อว่าเป็นถ้อยคำที่ให้ไว้ตามความเป็นจริง ทั้งยังเป็นถ้อยคำที่มิได้มุ่งประสงค์เพื่อจะให้ตนเองพ้นผิดแต่ประการใด จึงใช้รับฟังประกอบสนับสนุนคำเบิกความของว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุญเกื้อและสิบตำรวจโทสิงหโรจน์ที่ว่า หลังจากนางอี๊ดกลับไปและสิบตำรวจโทสิงหโรจน์ขอให้ช่วยติดต่อผู้ขายเมทแอมเฟตามีนรายอื่น จำเลยที่ 3 ก็ได้บอกให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อจนเป็นเหตุให้มีการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งมอบให้แก่สิบตำรวจโทสิงหโรจน์นั้น ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นอีกด้วยแล้ว กรณีจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งรู้ว่าจะมีผู้ซื้อเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นของผิดกฎหมายมาแต่ต้นแล้ว จำเลยที่ 3 ยังบอกกล่าวแนะนำทำให้จำเลยที่ 2 ตกลงใจโทรศัพท์ติดต่อและร่วมดำเนินการกับผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนมีการนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบให้แก่สิบตำรวจโทสิงหโรจน์ยังที่เกิดเหตุซึ่งนับได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานนี้ได้ จำเลยที่ 3 จึงต้องมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะการทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 14 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.