แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 นั้น ระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้ได้เอง โจทก์จะต้องกล่าวอ้างหรือนำสืบให้ศาลรู้ถึงระเบียบนั้นด้วย มิฉะนั้นศาลย่อมสั่งจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับไม่ได้
การที่ศาลชั้นต้นยกคำขอให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจขอ โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจขอ และศาลต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจขอ แต่โจทก์มิได้นำสืบหรือแนบระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดมาท้ายฟ้องให้ศาลรู้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ยกคำขอนั้นเสียได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันทำการประมงจับปลาน้ำจืดโดยใช้ตะแกรงลวดและกระแสไฟฟ้า มีผู้ประสงค์รับบำเหน็จนำจับนำพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ในขณะกระทำผิดพร้อมด้วยของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๒๐,๖๒ ทวิ, ๖๙,๗๑ พระราชบัญญัติการประมงแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ข้อ ๒,๔,๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ รับของกลาง และจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลดโทษฐานรับสารภาพแล้วกึ่งหนึ่ง จำคุกจำเลยคนละ ๓ เดือน ปรับคนละ ๒,๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๒ ปี ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้สั่งจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๑ นั้น โจทก์ไม่มีอำนาจขอ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิในสินบนนั้น ให้ยกคำขอนี้
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๖,๗,๘ และ ๙ และศาลต้องจ่ายบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ไม่เกินสองพันบาท ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๑ และขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจขอให้ศาลจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๑ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบหรือแนบระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดมาท้ายฟ้อง ศาลจึงไม่รู้ว่ารัฐมนตรีได้กำหนดระเบียบไว้อย่างไร จะต้องจ่ายบำเหน็จให้ผู้นำจับเป็นเงินเท่าใด ศาลจึงไม่อาจสั่งจ่ายบำเหน็จได้ โทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยก็พอสมควรแก่ความผิดแล้ว พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นยกคำขอให้จ่ายบำเหน็จแก่ผู้นำจับเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจขอ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจขอ ก็ควรสั่งให้จ่ายบำเหน็จแก่ผู้นำจับ ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำขอเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้นำสืบหรือแนบระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดมาท้ายฟ้องให้ศาลรู้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ทั้งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๑ ได้กล่าวถึงระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ด้วย ศาลต้องรู้ระเบียบนั้นเอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นยกคำขอให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับ เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจขอ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจขอ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบหรือแนบระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดมาท้ายฟ้องให้ศาลรู้ ให้ยกคำขอนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยเช่นนั้นได้ เพราะการจ่ายบำเหน็จตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ศาลต้องรู้ถึงระเบียบนั้น ถ้าศาลไม่รู้ก็ย่อมสั่งจ่ายให้ไม่ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๑ บัญญัติว่า “ผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำผิด ให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา โดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ” ตามมาตรานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดให้จ่ายบำเหน็จให้แก่ผู้นำจับไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้ได้เอง โจทก์ต้องกล่าวอ้างหรือนำสืบให้ศาลรู้ถึงระเบียบนั้นด้วย เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติเช่นนี้ ศาลย่อมสั่งจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.