คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4799/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในปัญหาตามข้ออ้างตามคำฟ้องโจทก์อันเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ไม่มีบทกฎหมายห้าม
ข้อสัญญาที่จำเลยให้ไว้แก่กรมศุลกากรโจทก์ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีที่ว่า ในกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการ มิใช่ความตกลงยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนอันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 แต่เป็นข้อสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามจึงใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ
การที่กรมศุลกากรโจทก์ออกบัตรภาษีให้แก่จำเลยเกิดจากการทุจริตของบริษัท ท. ผู้ขอโอนสิทธิให้แก่จำเลย และจำเลยนำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรหมดแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามบทกฎหมายเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่ เมื่อความรับผิดของจำเลยเป็นความรับผิดอันเกิดแต่สัญญา และเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยใช้เงินตามบัตรภาษีแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยได้รับหนังสือทวงถามวันที่ 23 มกราคม 2547 ครบกำหนดจำเลยชำระหนี้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 บริษัททักษิณเท็กซ์ไทล์ จำกัด ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก เลขที่ 0829887 และ 0829888 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 บริษัทยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกเลขที่ 0861521 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์อ้างว่าบริษัทเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 บริษัทได้ส่งออกสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรไปจำหน่ายยังต่างประเทศตามใบขนสินค้าขาออก 3 ฉบับ, 1 ฉบับ และ 10 ฉบับ ตามลำดับ บริษัทมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีเป็นเงิน 209,326.51 บาท, 69,576.41 บาท และ 284,980.90 บาท ตามลำดับ บริษัทขอโอนบัตรภาษีตามสิทธิดังกล่าวให้แก่จำเลย จำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีตามคำขอของบริษัททั้งสามฉบับดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยจำเลยให้สัญญาว่ากรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เชื่อว่าบริษัทเป็นผู้ส่งออกได้ส่งออกสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรไปจำหน่ายยังต่างประเทศและมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามที่ยื่นคำขอจึงออกบัตรภาษีมูลค่า 209,326.51 บาท, 69,576.41 บาท และ 284,980.90 บาท ให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538, 26 กรกฎาคม 2538 และ 28 พฤศจิกายน 2538 ตามลำดับ จำเลยได้นำบัตรภาษีทั้งสามฉบับดังกล่าวไปใช้ชำระค่าภาษีอากรของจำเลยแล้ว ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่า บริษัทไม่ได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศตามใบขนสินค้าขาออกที่บริษัทอ้าง แต่บริษัทกระทำการโดยทุจริตโดยเอกสารที่แสดงต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ในการยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกของบริษัทเป็นเอกสารเท็จและเอกสารปลอม บริษัทไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และไม่มีสิทธิขอโอนบัตรภาษีให้จำเลย ส่วนจำเลยไม่มีสิทธิได้รับบัตรภาษี โจทก์ทวงถามจำเลยให้ใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีทั้งสามฉบับแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้งรับผิดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีทั้งสามฉบับแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 563,883.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 378,407.79 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนบัตรภาษีหรือใช้เงิน 946,291.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 563,883.82 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และโจทก์ยื่นคำร้องขอให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 942,291.61 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 563,883.82 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2538 บริษัททักษิณเท็กซ์ไทล์ จำกัด ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกเลขที่ 0829887 และ 0829888 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 บริษัทยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกเลขที่ 0861521 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ อ้างว่าบริษัทเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 บริษัทได้ส่งออกสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรไปจำหน่ายยังต่างประเทศตามใบขนสินค้าขาออก 3 ฉบับ, 1 ฉบับ และ 10 ฉบับ ตามลำดับ บริษัทมีสิทธิได้รับเงินค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีตามคำขอแต่ละฉบับ เป็นเงิน 209,326.51 บาท, 69,576.41 บาท และ 284,980.90 บาท ตามลำดับ บริษัทขอโอนบัตรภาษีตามสิทธิดังกล่าวให้แก่จำเลย จำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีตามคำขอของบริษัททั้งสามฉบับดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยจำเลยให้สัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เชื่อว่าบริษัทเป็นผู้ส่งออกได้ส่งออกสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามที่ยื่นคำขอ จึงออกบัตรภาษีมูลค่า 209,326.51 บาท, 69,576.41 บาท และ 284,980.90 บาท ให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538, 26 กรกฎาคม 2538 และ 28 พฤศจิกายน 2539 ตามลำดับ จำเลยได้นำบัตรภาษีทั้งสามฉบับดังกล่าวไปใช้ชำระค่าภาษีอากรของจำเลยแล้วต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบพบว่าบริษัทไม่ได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศตามใบขนส่งสินค้าออกที่บริษัทอ้าง แต่บริษัทกระทำการโดยทุจริต โดยเอกสารที่แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ในการยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกของบริษัทเป็นเอกสารเท็จและเอกสารปลอม โจทก์ทวงถามจำเลยให้คืนบัตรภาษีหรือใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีทั้งสามฉบับแก่โจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว สมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ก่อนว่าอุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การ อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่สมควรได้รับการพิจารณาหรือไม่ โดยศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า บริษัททักษิณเท็กซ์ไทล์ จำกัด กับจำเลยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ให้ออกบัตรภาษีรายพิพาทแก่จำเลย และจำเลยได้ให้สัญญาแก่โจทก์โดยทำคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีต่อโจทก์ว่าในกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการ โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ เมื่อจำเลยนำบัตรภาษีรายพิพาทไปชำระค่าภาษีอากรหมดแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยรับโอนบัตรภาษีรายพิพาทจากบริษัททักษิณเท็กซ์ไทล์ จำกัด โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน กรณีเป็นมูลลาภมิควรได้ เมื่อจำเลยนำบัตรภาษีรายพิพาทไปใช้ชำระค่าภาษีอากรหมดแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง สำหรับข้อสัญญาที่ว่าในกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เป็นการตกลงล่วงหน้าระหว่างผู้แทนโจทก์กับจำเลย เป็นข้อยกเว้นไม่ให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหายเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ จึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับจำเลยไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในปัญหาตามข้ออ้างตามคำฟ้องโจทก์อันเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้ยื่นคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง หามีบทกฎหมายห้ามแต่อย่างใดไม่
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ข้อสัญญาที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีว่า ในกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้นเป็นโมฆะหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิจารณาคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์แล้ว เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยว่า ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีรายพิพาท หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ กรณีมิใช่ความตกลงยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนอันเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 แต่เป็นข้อสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม จึงใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่โจทก์ออกบัตรภาษีรายพิพาทให้แก่จำเลยเกิดจากการทุจริตของบริษัททักษิณเท็กซ์ไทล์ จำกัด ผู้ขอโอนสิทธิให้แก่จำเลย และจำเลยนำบัตรภาษีรายพิพาทไปใช้ชำระค่าภาษีอากรหมดแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยได้รับโอนบัตรภาษีรายพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ตามบทกฎหมายเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ความรับผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นความรับผิดอันเกิดแต่สัญญา และเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยใช้เงินตามบัตรภาษีรายพิพาทแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยได้รับหนังสือทวงถามวันที่ 23 มกราคม 2547 ครบกำหนดจำเลยชำระหนี้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับบัตรภาษีรายพิพาทจากโจทก์ตามคำขอของโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 563,883.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 2 กันยายน 2547) ให้จำเลยรับผิดไม่เกิน 378,407.79 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share