คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเคยสั่งให้โจทก์ลงโฆษณามาก่อนหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบสั่งโฆษณา แม้ในครั้งที่พิพาทกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้แต่ก็เป็นเรื่องข้อตกลงภายในของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งบุคคลภายนอก ทั้งข้อความที่ลงโฆษณาก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกิจการและประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนว่าจ้างโจทก์โฆษณา จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดชำระสินจ้างแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนและในฐานะส่วนตัวว่าจ้างโจทก์ลงโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์หน้าเหลือง ภาษาไทย ในเขตนครหลวง ประจำปี 2539 เป็นเงินจำนวน 301,280 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 30,128 บาท โจทก์จัดพิมพ์โฆษณาในสมุดโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 410,494 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 301,280 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ลงโฆษณา จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่เป็นพนักงานของบริษัทกิมสต๊อก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 การจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจลงนามจัดซื้อจัดจ้างและมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 คือนายอรรถกร จารุเธียร และนางสาวจารุนันท์ จารุเธียร กรรมการพร้อมประทับตราจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้เป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 2 กระทำโดยพลการ เนื่องจากพนักงานขายของโจทก์ใช้กลลวง แจ้งจำเลยที่ 2 ว่าหากลงโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์หน้าเหลือง ช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 322,369.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 301,280 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ครบถ้วน กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่ออนุมัติว่าจ้างโจทก์ลงโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์หน้าเหลือง เขตนครหลวง โจทก์จัดส่งใบร่างแบบโฆษณาในสมุดโทรศัพท์ไปให้จำเลยที่ 2 ตรวจสอบ จำเลยที่ 2 อนุมัติตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์จึงจัดพิมพ์โฆษณาตามคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.6 คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระสินจ้างให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่… เห็นว่า ได้ความจากนายคมสันต์พยานโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเคยสั่งให้โจทก์ลงโฆษณาก่อนหน้านี้หลายครั้ง ข้อนี้จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยติดต่อโจทก์เพื่อลงโฆษณาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในใบสั่งโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.4 เช่นกัน แต่กรรมการของจำเลยที่ 1 ต้องลงลายมือชื่ออีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าในการว่าจ้างโจทก์โฆษณาที่ผ่านมา จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบสั่งลงโฆษณา แม้ในครั้งนี้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องข้อตกลงภายในของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ทั้งข้อความที่ลงโฆษณาก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกิจการและประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว กรณีไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะกระทำไปโดยพลการตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวมาบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนว่าจ้างโจทก์โฆษณาดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดชำระสินจ้างแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์มิได้มีคำพิพากษาแก้ไขเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share