แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า ศ. นำโฉนดที่ดินที่พิพาทไปมอบให้จำเลยเพื่อโอนชำระหนี้เงินยืม 1,500,000 บาท เป็นการนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้โฉนดที่ดินที่พิพาทมาอย่างไร โดยมิได้อ้างถึงหนังสือสัญญากู้เงินและมิได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินมาแสดง แม้จะมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินที่ระบุว่ามอบโฉนดที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันก็ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่ ศ. ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ค้างชำระอยู่ มิใช่หนี้ตามสัญญากู้ยืมที่มีการออกเช็คนั้นชำระหนี้ จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 656 มาปรับใช้ได้ ความตกลงในการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 53 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจที่มีเฉพาะลายมือชื่อของโจทก์ไปกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม เป็นการปลอมเอกสาร แล้วจำเลยนำหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวไปใช้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของจำลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมตามหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 53 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์พานางศิริจิตต์ เล็บสิงห์ บุตรโจทก์มากู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปลงทุนประกอบธุรกิจ ทุกครั้งที่นางศิริจิตต์กู้ยืมเงินจากจำเลยจะออกเช็คชำระหนี้เงินกู้มอบให้จำเลยไว้ รวมยอดเงินตามเช็คจำนวน 1,500,000 บาท นางศิริจิตต์ไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยทวงถาม นางศิริจิตต์ผัดผ่อน ต่อมานางศิริจิตต์นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่กรอกข้อความสมบูรณ์แล้วพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการกับสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ที่มีลายมือชื่อโจทก์รับรองไว้มามอบให้จำเลยโดยแจ้งว่าโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ด้วยการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตีใช้หนี้แก่จำเลยแทนนางศิริจิตต์ จำเลยตกลงจึงนำเอกสารที่นางศิริจิตต์มอบให้ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยโดยสุจริต นิติกรรมการขายที่ดินจึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการสมรู้กับนางศิริจิตต์ด้วยการแสดงเจตนาลวงแก่จำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นางศิริจิตต์ เล็บสิงห์ บุตรโจทก์เป็นหนี้เงินกู้จำเลยและได้นำโฉนดเลขที่ 53 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.1 ไปมอบให้จำเลย ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อมอบอำนาจไว้แล้ว สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการของโจทก์ เอกสารหมาย ล.2 จ.4 และ จ.6 ตามลำดับ ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 53 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ดังกล่าว พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่จำเลย ตามสำเนาโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ ล.3 ตามลำดับ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าวหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มิได้มอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนขายที่ดินและบ้านพิพาท แต่จำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจนได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท โดยโจทก์ยกขึ้นอ้างประการแรกว่า ที่จำเลยนำสืบว่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2540 นางศิริรัตต์นำโฉนดที่ดินที่พิพาทไปมอบให้จำเลยเพื่อโอนชำระหนี้เงินยืม 1,500,000 บาท นั้น เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย ล.4 หรือ จ.8 ซึ่งระบุว่านางศิริจิตต์ได้มอบโฉนดที่ดินที่พิพาทให้จำเลยถือไว้เป็นประกันแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2538 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังพยานบุคคลของจำเลยในเรื่องนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การนำสืบของจำเลยดังกล่าว เป็นการนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้โฉนดที่ดินพิพาทมาอย่างไร โดยมิได้อ้างหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย ล.4 หรือ จ.8 และมิได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารดังกล่าวมาแสดง ดังนั้นแม้จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย ล.4 หรือ จ.8 ก็ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ห้ามมิให้ศาลรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังพยานบุคคลของจำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว และเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวประกอบคำเบิกความของนางศิริจิตต์ที่รับว่าได้รับมอบโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลยด้วยแล้ว ปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า นางศิริจิตต์มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยเมื่อใดแน่ก็ไม่เป็นสาระที่ควรจะวินิจฉัยอีกต่อไป ที่โจทก์อ้างประการต่อมาว่า การโอนขายที่ดินพิพาทตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.3 นั้น เป็นนิติกรรมอำพรางการโอนชำระหนี้ระหว่างนางศิริจิตต์กับจำเลย แต่ทั้งสองฝ่ายหาได้ตีราคาท้องตลาดของที่ดินพิพาทเพื่อการชำระหนี้กันไม่ การโอนชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 นั้น แม้โจทก์มิได้กล่าวอ้างปัญหาตามที่ฎีกามาในฟ้อง จึงไม่มีประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง แต่เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าทำสัญญากู้ยืมกัน และผู้ให้กู้ยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ” แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังตามข้อต่อสู้ของจำเลยมีว่า จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่นางศิริจิตต์ค้างชำระอยู่หลายฉบับ มิใช่หนี้ตามสัญญากู้ยืม ดังนี้ จึงไม่อาจนำบทกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ความตกลงในการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาว่าที่ดินพิพาทมีราคาท้องตลาดเท่าใดในเวลาและ ณ สถานที่ที่ส่งมอบอีกต่อไป”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนจำเลย.