แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และได้เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผนแล้ว ต่อมาโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้าง โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเพื่อเรียกค่าชดเชย จำเลยที่ 2 มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเข้ามาด้วยก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ทำให้คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 28 คำสั่งที่ 2545 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและดอกเบี้ยและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 414,944 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระค่าดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างค้างจ่ายอีก 9,077.10 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และวันที่ 30 มีนาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัทสยามซินเทค แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผน โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 อ้างว่าทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 6509/2543 เรียกให้จ่ายค่าชดเชยอันเกิดจากการเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางเห็นว่ามูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ชอบที่โจทก์จะไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ โจทก์ไม่ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 เพื่อเรียกค่าชดเชย ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งที่ 8/2545 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามคำร้อง โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเข้ามาด้วยก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้รับจ่ายค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ทำให้คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2485 มาตรา 90/12 (4) ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.