คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเมื่อสิทธิในการร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้ประกันสิ้นสุดแล้ว ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118 เป็นกรณีพิจารณาเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ดังเช่นคดีแพ่ง จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นายนคร บาลเพชร ผู้ประกัน ได้ประกันตัวจำเลยไปในระหว่างพิจารณาโดยศาลชั้นต้นตีราคาประกันเป็นเงิน 80,000 บาท
วันที่ 14 พฤษภาคม 2534 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันตนตามสัญญาประกัน
ผู้ประกันยื่นคำร้องลงวันที่ 12 มิถุนายน 2534 ขอให้ยกเลิกค่าปรับหรือลดค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับผู้ประกันเป็นเงิน 46,300 บาท
ผู้ประกันยื่นคำร้องลงวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ขอให้ศาลชั้นต้นคืนหลักประกันเพราะโจทก์ไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีผู้ประกันภายในระยะเวลา 10 ปี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ความปรากฏแก่ศาลเมื่อนายประกันยื่นคำร้องขอคืนหลักประกัน ถือได้ว่ามีการร้องขอให้บังคับคดีภายในระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะคืนหลักประกัน ให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ที่ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อสิทธิในการร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้ประกันสิ้นสุดแล้ว ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 118 นั้น เป็นกรณีพิจารณาความเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ดังเช่นคดีแพ่ง จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้องเพราะเป็นการอุทธรณ์ข้ามลำดับศาล”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกานั้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งอุทธรณ์ของผู้ประกันไปยังศาลอุทธรณ์ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป.

Share