คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในเรื่องละเมิดชำระค่าเสียหาย 20,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 3และจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร กลับฎีกาว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมมิได้ทำละเมิด ซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 1 จะขายให้แก่ น. ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ น.เสียเปรียบ และจำเลยดังกล่าวร่วมกันจัดการให้จำเลยที่ 4เป็นทนายให้จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินและรีบเร่งทำสัญญาประนี-ประนอมยอมความกัน ต่อมาได้มีการเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยร่วมได้ร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยทุกคนด้วย ซึ่งเป็นการแสดงเหตุว่าฟ้องจำเลยร่วมได้ การบรรยายดังกล่าวมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแจ้งชัดที่สามารถเข้าใจได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับ น. โดยมิได้กำหนดเวลากันไว้ น.ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว 200,000 บาท คงค้างชำระอีก 190,000 บาท เมื่อ น.ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้บอกกล่าวให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ น.ชำระค่าที่ดิน 290,000 บาท และรับโอนที่ดินในวันที่ 7กรกฎาคม 2532 หากโจทก์ไม่จัดการภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขอบอกเลิกสัญญา ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าคดีที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ น. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและคดีถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน2532 แต่โจทก์เพิ่งไปขอรับคำสั่งศาลในวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 ถือว่าโจทก์ได้ปล่อยปละละเลยไม่ขอรับคำสั่งศาลในเวลาอันสมควร จะยกเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ชำระราคาที่เหลือ 290,000 บาท ทั้ง ๆ น.ค้างชำระเพียง 190,000 บาท โจทก์ย่อมอ้างเหตุที่จะไม่ปฏิบัติตามได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่รับชำระไว้ และถือว่าสัญญาจะซื้อขายยังมีผลผูกพันอยู่เมื่อจำเลยที่ 1 เอาที่ดินพิพาทไปทำสัญญาจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ แต่ขณะทำนิติกรรมนั้น จำเลยที่ 2 มิได้รู้ความจริงในเรื่องนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ และการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญาเท่านั้น ยังมิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายตามความหมายของ ป.พ.พ.มาตรา 420 จึงไม่เป็นละเมิด

Share