คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8189/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “TOT” เพื่อการติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายทั่วไป ขณะที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้คำว่า “TOT” จนเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และไม่ปรากฏว่าโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่สุจริตเช่นใดด้วย การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า ในภายหลัง จึงไม่เป็นสาเหตุที่จะทำให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กลับเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และเป็นการมุ่งหวังให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของจำเลยที่ 1 ไม่ ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งในทำนองว่า จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่รัฐมีนโยบายให้จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ได้ประกอบกิจการโทรศัพท์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2497 อันเป็นเหตุให้รับฟังว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อรัฐประศาสโนบาย โดยไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขัดต่อรัฐประศาสโนบายในประเด็นอื่นอย่างไร จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า (คำสั่งของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12) ที่ 5/2545 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 ที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 105334 คำขอเลขที่ 391276 ของโจทก์ ให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า แต่ผู้เดียว
ห้ามจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องหรือใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์
จำเลยทั้งสิบสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า (คำสั่งของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12) คำสั่งที่ 5/2545 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 กับให้โจทก์เพียงผู้เดียวมีสิทธิและเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องหรือใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาตั้งแต่ปี 2531 จำเลยที่ 1 เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ใช้ชื่อภาษาไทยว่า องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ต่อมาแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อภาษาไทยว่า บริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และภาษาอังกฤษว่า “TOT CORPORATION PUBLIC COMPANY LIMITED” จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสองว่า การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในประเด็นเรื่องเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของจำเลยที่ 1 นั้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เท่าที่นำสืบมาไม่ปรากฏชัดว่า ขณะที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จำเลยที่ 1 ได้ใช้คำว่า “TOT” จนเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจริงหรือไม่ แม้พยานจำเลยทั้งสิบสองจะเบิกความในทำนองเดียวกันสรุปได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวโดยแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่องตลอดมา แต่หลักฐานที่ปรากฏเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์คำว่า “TOT” ของจำเลยที่ 1 เช่น รายงานประจำปี สื่อประชาสัมพันธ์ และบัตรโทรศัพท์ TOT ล้วนเป็นการดำเนินการภายหลังจากที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วทั้งสิ้น สำหรับเอกสารข้อตกลงความร่วมมือ และคำสั่งของจำเลยที่ 1 เลขที่ 371/2530 เรื่องการติดตั้งโทรศัพท์ประเภทผู้เช่าจัดซื้อเครื่องโทรศัพท์นั้น หาใช่หลักฐานอันจะเป็นเงื่อนไขที่ถือเป็นยุติได้ว่าคำดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โดยเฉพาะนางสาวเรวดีเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การใช้ชื่อ “TOT” ของจำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศเท่านั้น ส่วนการติดต่อกับบุคคลในประเทศ จำเลยที่ 1 จะใช้คำว่า “ทศท.” ดังนั้น พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสิบสองจึงยังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้คำดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายทั่วไป สำหรับฉลากตราสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ก็ไม่ปรากฏชัดว่ามีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ เพียงใด โดยนายสุรพลเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสิบสองขออนุญาตศาลถามว่า เครื่องรับโทรศัพท์ระบุปีที่ใช้ คือ ปี 2525 และปี 2527 และนายทะนงเบิกความว่า ก่อนปี 2530 เมื่อมีผู้ขอติดตั้งโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 จะจัดหาเครื่องรับโทรศัพท์ให้ ต่อมาในปี 2531 หากผู้เช่าจัดหาเครื่องรับโทรศัพท์เอง ผู้เช่าจะต้องส่งเครื่องรับโทรศัพท์มาให้พยานตรวจสอบ และติดฉลากตราสัญลักษณ์แต่ถ้าเป็นเครื่องรับโทรศัพท์ที่ผู้จำหน่ายได้ส่งมาให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานแล้ว ก็ไม่ต้องส่งมาให้ตรวจสอบอีก ให้ดูที่ฉลากรับรองคุณภาพ แต่ตอบทนายจำเลยทั้งสิบสองถามติงเมื่อให้ดูเครื่องรับโทรศัพท์ว่า เครื่องรับโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจัดหาให้ผู้เช่า ด้านหลังมีข้อความว่า “Property of TOT” เมื่อเครื่องรับโทรศัพท์ดังกล่าวไม่ปรากฏฉลากตราสัญลักษณ์จึงเป็นไปได้ว่า เครื่องรับโทรศัพท์ที่ประชาชนทั่วไปใช้กันในขณะที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้มีฉลากตราสัญลักษณ์ดังกล่าวทุกเครื่อง ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เครื่องรับโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 นั้น มีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศเพียงใด
อนึ่ง การติดฉลากตราสัญลักษณ์หรือการใช้คำว่า “TOT” ที่ด้านหลังของเครื่องรับโทรศัพท์ก็ไม่อาจแสดงได้ว่าสาธารณชนทั่วไปจะได้สังเกตและรับรู้หรือไม่ เพียงใด ประกอบกับนายสุรพลเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2544 พยานได้ตรวจสอบพบว่าโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “TOT” จนเป็นที่แพร่หลายทั่วไป และมีเจตนาที่จะใช้คำดังกล่าวในการประกอบการของตนจริงแล้ว ก็ไม่น่าที่จะตรวจสอบไม่พบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเวลานานกว่า 10 ปี เช่นนี้ พยานหลักฐานดังกล่าวของจำเลยทั้งสิบสองจึงมีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์นำสืบว่า โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและใช้ในการประกอบธุรกิจมาโดยสุจริต คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่า ขณะที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายจนเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และการที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงไม่ชอบ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share