แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส. ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่1 ไม่ใช้สิทธิไถ่คืน แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 ต่อมาปี 2530 จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นางสุข หงษ์ทอง โดยมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ นางสุขครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน 1 ปีแล้ว วันที่ 28 มกราคม 2536 นางสุขขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 10,000 บาท พร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์ด้วยโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกบ้านเลขที่ 26 ยุ้งฉางข้าว ไม้ยืนต้น และล้อมรั้วกั้นเขตไว้โดยเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือรอนสิทธิเกินกว่า 1 ปี จนถึงปัจจุบัน จึงได้สิทธิครอบครอง เดือนกุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ออกไปอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 เนื่องจากได้ซื้อฝากและล่วงเลยกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทจึงเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองกับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทแล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 ตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า การซื้อที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสุข หงษ์ทอง ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท นางสุขไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง การปลูกสร้างบ้านเลขที่ 26 ลงในที่ดินพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยนิติกรรม จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยความสุจริตเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิโต้แย้งจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์กับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 26 และที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับแต่คำพิพากษา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นางสุข นางสุขครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกิน 1 ปี จนกระทั่งนางสุขขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงครอบครองต่อมาด้วยเจตนาเป็นของตนเอง โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทลงวันที่ 24 มีนาคม 2541 แล้ว ให้จำเลยที่ 1 โอนทางทะเบียนและส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1089 (ที่ถูก 1989) ตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท กับรื้อถอนบ้านเลขที่ 26 ออกจากที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 ตำบลหนองกุง กิ่งอำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งออกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2521 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นางสุข หงษ์ทอง โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ วันที่ 28 มกราคม 2536 นางสุขขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิไถ่คืน ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.