คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 ได้บัญญัติเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะแล้ว การพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์จึงต้องเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้นเท่านั้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวอื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83, 58, 33 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 56/2545 ถึงหมายเลขดำที่ 59/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อทั้ง 4 คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 83 (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83) เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สภาพแวดล้อม ทั้งสภาพความผิด ประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุโขทัยแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จึงลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี จำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวม 4 คดี ประกอบกับในระหว่างถูกควบคุมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุโขทัย จำเลยได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท จึงเห็นสมควรอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติ ซึ่งจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษาให้จำเลยเรียนจบวิชาสามัญและฝึกวิชาชีพตามถนัด ส่วนคำขอที่ให้นับโทษต่อนั้น เนื่องจากศาลมิได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก จึงไม่มีโทษที่จะนับต่อ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ หากพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ก็ขอให้ส่งไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิจารณา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ และส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมถ้อยคำสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิจารณา อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุญาตให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาชนและครอบครัววินิจฉัยว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ พิพากษายืน ความผิดฐานลักทรัพย์ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษากำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลย โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมไม่เกิน 3 ปี อันเป็นคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 (2) จำเลยอุทธรณ์ดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่ให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวและอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 122 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาชนและครอบครัวกลางพิจารณาแล้วอนุญาตให้อุทธรณ์ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวอื่นหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค และอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” อันเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจพิเศษเฉพาะแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้คดีใดอุทธรณ์หรือไม่ แทนที่จะเป็นอำนาจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนั้นดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด บทบัญญัติในมาตรา 122 ดังกล่าวมิได้มีข้อความให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่จะพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์รวมไปถึงคดีอื่นนอกเขตอำนาจได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งหากกฎหมายมีเจตนารมณ์เช่นนั้นก็คงจะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับที่บัญญัติให้อำนาจไว้ในมาตรา 87 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีอำนาจวางระเบียบปฏิบัติของที่ปรึกษากฎหมายในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว” ดังนั้นการที่มาตรา 122 ใช้ถ้อยคำว่า “…อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว…” จึงมิได้ถึงกับทำให้มีความหมายว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ในคดีที่อยู่นอกเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ การระบุชื่อตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งก็เป็นเพียงการระบุชื่อตำแหน่งของผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ของแต่ละศาลให้ถูกต้องกับศาลนั้น ๆ เท่านั้น หากแปลความว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ในคดีที่อยู่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ด้วย ก็จะมีผลทำให้คดีที่อยู่นอกเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีผู้พิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ถึง 2 คน และได้รับการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ซึ่งแตกต่างจากคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอันเป็นการได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกัน แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 20 จะบัญญัติว่า “อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้รับผิดชอบงานของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรโดยให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม” ก็ตาม ก็เป็นความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่เฉพาะที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมระบุไว้เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 ดังที่วินิจฉัยข้างต้น ดังนั้น การพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ต้องเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวอื่นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share