คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรรมการผู้จัดการของบริษัทนายจ้างแจ้งความกล่าวหาลูกจ้างว่าลักทรัพย์จนลูกจ้างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับไปคุมขังและถูกฟ้องอาญา แต่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด ว่าลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด แม้การกล่าวหานั้นจะปราศจากมูลความจริง ลูกจ้างก็ถูกจับและควบคุมไว้ไม่ได้ทำงาน 5 วันไม่ถึง 7 วันทำงานติดต่อกัน เมื่อลูกจ้างมีประกันตัวมาก็ไม่กลับเข้าทำงาน โดยไม่ปรากฏว่านายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานหรือกลั่นแกล้งประการอื่น เป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่ทำงานกับนายจ้างต่อไปโดยความสมัครใจของลูกจ้างเอง มิใช่เหตุเพราะนายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยที่ไม่มีระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้เป็นหนังสือเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัส เป็นแต่นายจ้างเคยจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้าง 1 เดือน เมื่อสิ้นปี แสดงว่านายจ้างจะจ่ายเงินโบนัสให้ต่อเมื่อลูกจ้างผู้นั้นยังคงทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยถึงสิ้นปี เมื่อลูกจ้างออกจากงานไปเสียก่อนสิ้นปี ทั้งไม่ปรากฏว่านายจ้างต้องจ่ายเงินโบนัส แม้ลูกจ้างจะออกไปในระหว่างปีโดยคำนวณตามระยะของการทำงานหรือผลงานแล้ว ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากนายจ้าง

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 999 บาทแก่โจทก์ฯ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาโจทก์ว่าลักทรัพย์จนโจทก์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับไปคุมขังเป็นเวลา 5 วัน และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลทางอาญา แต่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดนั้น เป็นการเลิกจ้างหรือไม่ พิเคราะห์เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 ให้คำนิยามว่า “การเลิกจ้าง หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน โดยลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างประจำทำงานเกินเจ็ดวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ถ้าปรากฏว่านายจ้างมีเจตนาจะไม่จ้างลูกจ้างนั้นทำงานต่อไปหรือกลั่นแกล้งลูกจ้าง ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างด้วย” เช่นนี้ เห็นได้ว่าการจะเป็นเลิกจ้างตามกฎหมายต้องมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังกำหนดไว้ แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ให้โจทก์ออกจากงาน หรือไล่ออกหรือปลดออกจากงานส่วนการที่จำเลยโดยกรรมการผู้จัดการแจ้งความกล่าวหาโจทก์ว่าลักทรัพย์จนโจทก์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับไปคุมขังระหว่างสอบสวน แม้การกล่าวหานั้นจะปราศจากมูลความจริง โจทก์ก็ถูกจับและควบคุมไว้ไม่ได้ทำงานเพียง5 วัน ไม่ถึง 7 วันทำงานติดต่อกัน ถัดจากนั้นเมื่อโจทก์มีประกันตัวมา โจทก์ก็ไม่กลับเข้าทำงานกับจำเลยอีกโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอม โจทก์ทำงานหรือกลั่นแกล้งประการอื่น ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยแกล้งกล่าวหาถึงหากโจทก์จะกลับเข้าทำงานจำเลยก็คงไม่ยอมรับนั้น เป็นความเข้าใจของโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทางพิจารณา จะให้ฟังว่าจำเลยมีเจตนาจะไม่จ้างโจทก์ต่อไปหาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า ที่โจทก์ไม่ทำงานกับจำเลยต่อไปเป็นการสมัครใจออกจากงานของโจทก์เอง มิใช่เหตุเพราะจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง

ส่วนข้ออุทธรณ์ของโจทก์ประการที่สองเกี่ยวกับเงินโบนัสนั้น ข้อเท็จจริงโจทก์จำเลยรับกันฟังได้ว่า ไม่มีระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้เป็นหนังสือว่าจำเลยต้องจ่าย เป็นแต่จำเลยเคยจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้าง 1 เดือนเมื่อสิ้นปี เช่นนี้ เห็นว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้ต่อเมื่อลูกจ้างผู้นั้นยังคงทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยถึงสิ้นปี เมื่อโจทก์คดีนี้ออกจากงานไปเสียก่อนสิ้นปี ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงให้ฟังว่าเงินโบนัสนี้จำเลยต้องจ่ายแม้ลูกจ้างจะออกไปในระหว่างปีโดยคำนวณตามระยะของการทำงานหรือผลงานแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลย”

พิพากษายืน

Share