คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางพิพาทเพื่อให้โจทก์ใช้ออกสู่ทางสาธารณะ โดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งที่ดินของโจทก์จะต้องไม่มีทางออกถึงสาธารณะโดยทางอื่นได้ เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมที่จะผ่านทางในที่ดินข้างเคียงแปลงอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามกฎหมาย อำนาจฟ้องเอาทางจำเป็นของโจทก์ตามมาตรา 1349 ย่อมหมดสิ้นไป ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าขณะฟ้องโจทก์ไม่มีทางอื่นนอกจากทางพิพาทสู่ทางสาธารณะหรือไม่
โจทก์ได้แบ่งขายที่ดินส่วนที่ติดทางภาระจำยอมให้แก่บุคคลอื่นไปในเวลาต่อมา แม้จะเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกปิดกั้นในการออกไปยังทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ แต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ต่างจากเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องอันเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้อง โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นโดยอาศัยคำฟ้องเดิมหาได้ไม่ ส่วนโจทก์จะมีสิทธิตามกฎหมายในกรณีดังกล่าวอย่างไรต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ขอให้ศาลพิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ตามคำฟ้องของโจทก์โจทก์ประสงค์ให้เปิดทางพิพาทในฐานะเป็นทางจำเป็นแต่ประการเดียว มิได้อ้างว่าเป็นทางภาระจำยอมด้วย การที่โจทก์ฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม จึงเป็นฎีกาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16825 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1554 ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบทั้งสี่ด้านไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 16975 อยู่ติดต่อทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1553 เดิมโจทก์และคนในครอบครัวใช้ทางผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 1553 ดังกล่าวออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1553 ออกเป็นแปลงย่อย ทางดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 16975 ทางด้านทิศเหนือของที่ดินจากทางด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก โจทก์และคนในครอบครัวได้ใช้ทางดังกล่าวต่อมารวมเวลา 30 ปีเศษ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เดิมเป็นคันดินเล็ก ๆ ต่อมาได้ขยายกว้างขึ้นรถยนต์แล่นเข้าออกได้ประมาณ 5 ถึง 6 ปี แล้ว โดยทางดังกล่าวมีความกว้าง 3 เมตร ยาว 7 เมตร และมีสะพานข้ามคลองกว้าง 3 เมตร ยาว 7 เมตร ออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ (ถนนเศรษฐกิจ 1) จนกระทั่งจำเลยทั้งสามได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16975 ดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งสามปักเสาปูนปิดกั้นทางดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 16975 ตำบลคลองมะเดื่อ (คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร บางส่วนของจำเลยทั้งสามทางด้านทิศเหนือเป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาว 7 เมตร สะพานกว้าง 3 เมตร ยาว 7 เมตร เป็นทางจำเป็นของที่ดินโฉนดเลขที่ 16825 ตำบลคลองมะเดื่อ (คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งกีดกั้นออกจากทางดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินของโจทก์ไม่ได้ถูกที่ดินของจำเลยทั้งสามปิดล้อม ที่ดินของโจทก์มีทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะทางอื่นได้ โดยเจ้าของที่ดินบริเวณนั้นพร้อมใจกันให้ใช้แนวแบ่งเขตระหว่างที่ดินเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1554 ของมารดาโจทก์ใช้แนวแบ่งเขตที่ดินทางทิศตะวันตกกว้างประมาณ 1 เมตร ด้านทิศใต้กว้างประมาณ 1.5 เมตร ไปจนถึงสะพานไม้ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเป็นทางเดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ ต่อมาโจทก์ได้รับมรดกที่ดินจากมารดาได้แบ่งแยกที่ดินกับนายอุดม ฟักฉิม และนางบังเอิญ บางแสงอ่อน เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของนายอุดม และนางบังเอิญปิดล้อม แต่โจทก์ยังสามารถใช้แนวแบ่งเขตที่ดินเดิมเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้เช่นเดิม หากโจทก์เห็นว่าที่ดินของโจทก์ถูกปิดล้อมหลังจากแบ่งแยกที่ดินโจทก์ก็ชอบที่จะขอใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินที่แบ่งแยก โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 16825 ตำบลคลองมะเดื่อ (คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1554 ของมารดาโจทก์ ซึ่งเป็นที่ดินไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทางสาธารณะ โดยตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่นมาแต่เดิม ต่อมามารดาโจทก์ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์กับพี่น้อง 3 คน และมีการแบ่งแยกที่ดิน โดยโจทก์ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 16825 ดังกล่าว ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงเดิม ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 16975 ติดกับที่ดินโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสามกว้าง 3 เมตร จากเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินโจทก์ไปตามแนวเขตด้านทิศเหนือของที่ดินจำเลยทั้งสามตลอดแนวจนถึงคลองสาธารณประโยชน์ซึ่งปัจจุบันไม่มีสภาพใช้เป็นทางสัญจรติดกับที่ดินจำเลยทั้งสามด้านทิศตะวันตก โดยคลองดังกล่าวคั่นระหว่างที่ดินของจำเลยทั้งสามกับถนนเศรษฐกิจ 1 ซึ่งเป็นถนนสาธารณประโยชน์ และมีสะพานไม้เชื่อมระหว่างทางพิพาทกับถนนดังกล่าว จำเลยทั้งสามนำเสาปูนซีเมนต์มาปักปิดกั้นทางพิพาทไม่ให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ตกลงกับนายสำรอง ภู่เกิด เจ้าของที่ดินติดต่อด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์ให้นายสำรองจดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินของนายสำรองให้โจทก์ใช้ถนนในที่ดินของนายสำรองติดกับที่ดินโจทก์เพื่อออกสู่ทางสาธารณะ ซึ่งโจทก์สามารถใช้ถนนดังกล่าวจากที่ดินโจทก์ผ่านไปออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 ทางด้านทิศใต้ได้ ต่อมาซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ขายที่ดินบางส่วนที่อยู่ติดกับทางภาระจำยอมดังกล่าวให้แก่นางจินตนา เขียวพุ่ม และแบ่งแยกที่ดินที่ขายเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 43942 โอนให้แก่นางสาวจินตนาตามสำเนาโฉนดที่ดินและบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย ล. 10 ถึง ล. 12 ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือกลับมาถูกที่ดินโฉนดเลขที่ 43942 ดังกล่าวปิดกั้นในการออกไปยังทางภาระจำยอมเพื่อไปสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโจทก์เพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางในที่ดินของนายสำรองได้อยู่แล้ว แม้ภายหลังโจทก์จะแบ่งขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะก็ตามทางในที่ดินของนายสำรองซึ่งเป็นทางภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ก็ยังคงอยู่ในบังคับภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ซึ่งเป็นสามยทรัพย์ในอันที่จะใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะดังเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1395 และโจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางในที่ดินที่แบ่งขายเพื่อให้โจทก์ใช้ทางภาระจำยอมได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของบุคคลอื่นปิดล้อมทุกด้าน โจทก์ไม่สามารถใช้ทางอื่นเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้โดยสะดวก และโจทก์ไม่เคยใช้ทางอื่นนอกจากทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามกฎหมาย เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางพิพาทเพื่อให้โจทก์ใช้เป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะ โดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของจำเลยทั้งสามและที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ อันเป็นการอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งการที่โจทก์จะมีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ที่ดินของโจทก์จะต้องไม่มีทางออกถึงสาธารณะโดยทางอื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมที่จะผ่านทางในที่ดินข้างเคียงแปลงอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยทั้งสามเป็นทางจำเป็น เพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามกฎหมาย อำนาจฟ้องเอาทางจำเป็นของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ซึ่งโจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมหมดสิ้นไป เพราะไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะขอให้ศาลจะพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ต่อไป ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าขณะฟ้องโจทก์ไม่มีทางอื่นนอกจากทางพิพาทสู่ทางสาธารณะตามข้ออ้างของโจทก์หรือไม่ต่อไป ส่วนที่ได้ความว่าต่อมาโจทก์ได้แบ่งขายที่ดินส่วนที่ติดทางภาระจำยอมให้แก่บุคคลอื่นไป แม้จะเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกปิดกั้นในการออกไปยังทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ต่างจากเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องอันเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำฟ้องโจทก์ โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็น เนื่องจากการแบ่งขายที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยอาศัยคำฟ้องเดิมหาได้ไม่ ส่วนโจทก์จะมีสิทธิตามกฎหมายในกรณีดังกล่าวอย่างไรก็เป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า แม้จะฟังว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในฐานะเป็นทางจำเป็น แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้สิทธิในทางพิพาทตามกฎหมาย เป็นทำนองว่าทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมของที่ดินโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เดิมเป็นคันดินเล็ก ๆ ต่อมาได้ขยายกว้างขึ้นจนมีความกว้าง 3 เมตร รถยนต์แล่นเข้าออกได้มาประมาณ 5 – 6 ปีแล้ว และขอให้ศาลพิพากษาว่าทางพิพาทกว้าง 3 เมตร ดังกล่าวเป็นทางจำเป็นของที่ดินโจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้เปิดทางพิพาทในฐานะเป็นทางจำเป็นแต่ประการเดียว มิได้อ้างว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมด้วย ซึ่งในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่เท่านั้น และโจทก์มิได้โต้แย้งไว้ การที่โจทก์ฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม จึงเป็นฎีกาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว แต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share