แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยรับซื้อทรัพย์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อ แม้จะเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรก็ตาม แต่เมื่อคำบรรยายฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยรับของโจรเพื่อค้ากำไร จึงมิอาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ประสงค์จะให้ลงโทษตามบทดังกล่าว คงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 336 ทวิ, 357, 83 กับขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนอีก 8 รายการ รวมราคา 87,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาพันตำรวจโท ณรงค์ชัย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและเบิกความเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ข้อหาลักทรัพย์และคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 3 เมษายน 2541 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด มีคนร้ายเข้าไปในเคหสถานของพันตำรวจโท ณรงค์ชัย โจทก์ร่วม ซึ่งไม่มีผู้ใดอยู่อาศัย แล้วลักบานประตูไม้สักแบบต่าง ๆ รวม 13 บาน เครื่องปรับอากาศ 1 ชุด โคมไฟเซรามิค 6 ช่อ เตาไฟฟ้า 1 เตา ถังแก๊ส 1 ถัง ลูกกรงทำด้วยไม้กลึง 29 ท่อน พระพุทธรูปบูชา 6 องค์ และกระจกเงากรอบไม้สัก 1 บาน รวมราคา 166,000 บาท ของโจทก์ร่วม โดยคนร้ายใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะขนทรัพย์สินดังกล่าวไป ต่อมาโจทก์ร่วมทราบเลขทะเบียนรถยนต์กระบะซึ่งเป็นยานพาหนะที่มาขนทรัพย์สินไป จึงได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามเจ้าของรถยนต์กระบะมาสอบถาม แล้วให้นำไปชี้ร้านค้าที่รับซื้อทรัพย์สินไว้ ซึ่งเป็นร้านค้าไม้เก่าของจำเลย จากนั้นโจทก์ร่วมไปหาจำเลยสอบถามขอซื้อบานประตูไม้สักที่มีลักษณะแบบเดียวกับที่ถูกลักไป จำเลยพาไปดูข้างในสุดของร้าน พบบานประตูไม้สักลายลูกฟัก 4 บาน ลายบานเกร็ดยาว 3 บาน ลายบานเกล็ดครึ่งบาน 1 บาน ประตูไม้สักบานโค้งลายลูกฟัก 1 คู่ และลูกกรงทำด้วยไม้กลึง 29 ท่อน ซึ่งโจทก์ร่วมจำได้ว่าเป็นของตน จึงเจรจาขอซื้อโดยขอซื้อเฉพาะบานประตูไม้สักรวม 10 บานก่อน ส่วนลูกกรงทำด้วยไม้กลึงจะมาซื้อภายหลัง แล้วให้จำเลยขับรถยนต์บรรทุกบานประตูไม้สักดังกล่าวไปส่งที่บ้านโจทก์ร่วม แต่ระหว่างทางโจทก์ร่วมให้จำเลยหยุดที่สถานีตำรวจนครบาลลาดกระบัง และแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยดำเนินคดี จากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจย้อนกลับไปยึดลูกกรงทำด้วยไม้กลึง 29 ท่อน ที่ร้านค้าของจำเลยมาเป็นของกลางเพิ่ม ต่อมาโจทก์ร่วมนำของกลางไปติดตั้งตามตำแหน่งเดิมที่บ้านเกิดเหตุ ปรากฏว่าสามารถติดตั้งได้ แสดงว่าเป็นของที่ถูกลักไปจริง จำเลยไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานตำรวจจึงคืนของกลางทั้งหมดแก่โจทก์ร่วม
คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า จำเลยรับซื้อทรัพย์ของกลางโดยมีข้อพิรุธหลายประการ จำเลยนำสืบว่ารับซื้อทรัพย์ของกลางโดยสุจริต เห็นว่า ทรัพย์ของกลางที่ยึดได้จากจำเลยเป็นบานประตูไม้สักที่มีแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมและเป็นบานโค้ง ซึ่งปกติต้องติดตั้งกับวงกบไม้ ได้ความจากโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมสั่งทำบานประตูดังกล่าวเป็นพิเศษมีขนาดใหญ่กว่าบานประตูทั่วไป วงกบที่ติดตั้งบานประตูของกลางจึงมีขนาดแตกต่างไปจากวงกบทั่วไปเช่นกัน หากผู้นำบานประตูของกลางมาขายให้จำเลยเนื่องจากได้รับเหมาทุบตึกมาจริงดังที่จำเลยให้การไว้ในชั้นสอบสวนก็ควรต้องมีวงกบคู่มากับบานประตูดังกล่าว โดยจำเลยผู้มีอาชีพค้าไม้เก่ามานานนับสิบปีย่อมต้องทราบข้อเท็จจริงนี้ การที่จำเลยรับซื้อบานประตูไม้สักของกลางโดยไม่มีวงกบประกอบมาด้วย จึงเป็นข้อส่อพิรุธ นอกจากนี้ แม้บานประตูและลูกกรงที่ยึดคืนมาจะผ่านการใช้งานแล้ว แต่ยังใหม่และมีสภาพดี ซึ่งจำเลยบอกขายโจทก์ร่วมในราคาหลายหมื่นบาท แต่จำเลยกลับซื้อทรัพย์ของกลางมาจากชายแปลกหน้าในยามวิกาลในราคาไม่ถึงหมื่นบาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงอยู่มาก ทั้งยังเป็นราคาที่จำเลยเป็นผู้กำหนดเองฝ่ายเดียวโดยกลุ่มชายผู้ขายให้จำเลยไม่ได้ร่วมกำหนดหรือต่อรองด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยรู้อยู่ว่า อย่างไรเสีย ชายกลุ่มดังกล่าวต้องรีบร้อนและยอมขายทรัพย์ของกลางให้แก่จำเลย จึงเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่งของจำเลย ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยรับซื้อทรัพย์จของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อ แม้จะเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรก็ตาม แต่เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยรับของโจรเพื่อค้ากำไร จึงมิอาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ได้ เพราะโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ศาลลงโทษตามบทดังกล่าว คงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก