คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดให้มีการหักทอนบัญชีกันทุกวันสิ้นเดือน เมื่อหักทอนบัญชีในเดือนสุดท้ายที่มีการเลิกสัญญา คือ วันที่ 30 กันยายน 2539 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ จำนวน 2,529,015.86 บาท แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นหนี้ที่คำนวณถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่าหลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ซึ่งความจริงโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้ โจทก์ไม่อาจใช้วิธีการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษาเนื่องจากมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนหนี้ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้จึงมิใช่เป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,529,015.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2542 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2542 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์…
ระหว่างบังคับคดีโจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย โดยแก้ไขคำพิพากษาจากนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2539
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นกรณีแก้ไขมากชอบที่โจทก์จะอุทธรณ์ต่อไป ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ตามข้อตกลงในสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนหากผิดนัดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงินเป็นรายเดือน ตามธรรมเนียมการคิดบัญชีของธนาคารพาณิชย์ ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันอันเป็นการคิดหักทอนบัญชีกันทุกวันสิ้นเดือนของแต่ละเดือนติดต่อกันไป ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินออกจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีอีก โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยที่ 1 ได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 จะไม่ถูกต้องเนื่องจากวันครบกำหนดหักทอนบัญชีสำหรับงวดที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินไปครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายน 2539 ต้องเป็นวันที่ 30 กันยายน 2539 โดยจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 2,529,015.86 บาท แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นหนี้ที่คำนวณถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 และวินิจฉัยต่อไปว่าหลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป อันเป็นการไม่ถูกต้องก็ตาม โจทก์ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่โจทก์กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยจนคดีถึงที่สุด ซึ่งการจะแก้ไขคำพิพากษาได้จะต้องเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กรณีนี้หากจะแก้ไขว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ตามที่โจทก์ร้องขอก็จะทำให้จำเลยทั้งสามต้องเสียดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนหนี้ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ เป็นเหตุให้จำเลยรับผิดสูงขึ้น จึงมิใช่เป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย และยังมีผลเป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิมของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share