แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อ. บิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และมอบเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปใช้เป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ จำเลยจึงเป็นตัวแทนของ อ. เงินที่จำเลยรับมาจาก อ. จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อ. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงทำสัญญากู้เงินกัน โดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่ อ. จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก อ. มาเป็นโจทก์และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่า อ. ได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่แก่ตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้จะได้ความว่า อ. มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทน อ. ทั้งไม่ปรากฏว่า อ. ดำเนินกิจการโรงเรียนร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย และการทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่า อ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินรวม 6,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 18 มกราคม 2543) ไม่ให้เกิน 2,700,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สืบเนื่องมาจากนายอุดมบิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และได้มีการมอบแคชเชียร์เช็คจำนวน 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 4,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินของนางพิศมัยมารดาโจทก์ ให้แก่จำเลยเป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ ต่อมาโจทก์ทราบว่าการติดต่อประสานงานของจำเลยไม่บรรลุผล โจทก์จึงเรียกจำเลยมาเจรจา จำเลยรับว่าจะคืนเงินดังกล่าวให้ และสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 4,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่เช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้แทนแล้วโจทก์ได้คืนเช็คให้จำเลยไป จำเลยขอผ่อนผันเปลี่ยนเช็คให้โจทก์หลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายจำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 4,000,000 บาท แต่เช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบดังกล่าว แสดงว่าจำเลยเป็นตัวแทนนายอุดม เงินจำนวน 4,000,000 บาท ที่จำเลยรับมาจากนายอุดมจึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นายอุดมซึ่งเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงกันและจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ จนกระทั่งมีการทำสัญญากู้เงินโดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 4,000,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่นายอุดม จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จากนายอุดมมาเป็นโจทก์ และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์
” แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่านายอุดมได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่านายอุดมและนางพิศมัยมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทนนายอุดมและนางพิศมัยเท่านั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า นายอุดมและนางพิศมัยดำเนินกิจการโรงเรียนเทคโนโลยีกรุงเทพร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย นอกจากนี้การทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่านายอุดมมีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ในสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.