แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีอาญาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาบุกรุก แม้ปรากฏว่าโจทก์อยู่ในฐานะเป็นบุคคลล้มละลายที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น หมายถึง เฉพาะแต่การฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีแพ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น ไม่รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วย และการที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้ล้มละลายก็ไม่มีฐานะถึงขนาดจะตกเป็นผู้ไร้ความสามารถอันจำต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) อีกทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4, 5 และ 6 มิได้มีบทมาตราใดกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแทนลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วด้วย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ขณะยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ยังอยู่ในฐานะเป็นบุคคลล้มละลายที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาบุกรุกได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโจทก์เมื่อปี 2526 และได้มีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ล.153/2526 ของศาลแพ่ง คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 22 (3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น หมายถึง เฉพาะแต่การฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีแพ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วยไม่ และกรณีที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้หาได้มีฐานะถึงขนาดตกเป็นผู้ไร้ความสามารถอันจำต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) ด้วยไม่ อีกทั้งตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 4, 5 และ 6 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มิได้มีบทมาตราใดกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแทนลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วด้วย ดังนั้น แม้ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ในส่วนของคดีอาญาลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือจำเลยก็จะต้องฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีด้วยตนเอง เพราะสิทธิการเป็นผู้เสียหายหรือความรับผิดในทางอาญานั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว กล่าวโดยเฉพาะสำหรับอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญา หากไม่เข้าเกณฑ์กรณีตามมาตรา 4, 5 และ 6 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วก็เป็นเรื่องของผู้เสียหายโดยตรงที่จะต้องจัดการเอง บุคคลอื่นใดนอกจากที่กฎหมายกำหนดไว้ในบทมาตราดังกล่าวแล้วหามีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83 อันเป็นการฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษทางอาญาแก่จำเลยแต่เพียงอย่างเดียว หาได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องแทนโจทก์ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าการฟ้องคดีอาญาในข้อหาบุกรุกเป็นการฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ จึงเป็นการฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 (3) ดังกล่าวข้างต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นดังนี้ คดีจึงมีปัญหาที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานบุกรุกจริงตามฟ้องหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิจารณาคดีนี้มาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้วก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็เห็นว่ายังไม่สมควรที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียว หากแต่สมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาต่อไปแล้วมีคำพิพากษาตามลำดับชั้นของศาล ทั้งนี้เพราะคดีอาจถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาก็ได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาอื่น ๆ ต่อไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.