คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6296/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาคดีแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ตามกฎหมายดังกล่าวหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 หรือในกรณีที่เป็นคดีทำนองเดียวกับคดีปกครองแล้ว ในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น ศาลแรงงานจะพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใด ๆ ที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานไม่ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงานดังกล่าวคู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยพิจารณาข้อเท็จจริงเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงาน โดยมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์นำสืบเพิ่มเติมไว้ในการพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่สาทรที่ 4/2546 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้จะเป็นคดีที่โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ในลักษณะที่เป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) และเป็นคดีทำนองเดียวกับคดีปกครองก็ตาม แต่มูลคดีดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อพิพาททางแพ่งในเบื้องต้น อีกทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคสอง (3) ก็บัญญัติยกเว้นไว้ว่า คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ฉะนั้น แม้คดีนี้จะเป็นคดีในทำนองเดียวกันกับคดีปกครองก็ตาม แต่ก็เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และการพิจารณาคดีแรงงานก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะอยู่แล้ว วิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ หลักในการพิจารณาคดีและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้แล้ว แต่หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่า หากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 หรือในกรณีที่เป็นคดีทำนองเดียวกับคดีปกครองแล้วในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น ศาลแรงงานจะพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใด ๆ ที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานไม่ได้ นอกจากนี้การสอบสวนข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงานก็มิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการสอบสวนไว้โดยเฉพาะ ทั้งกระทำการสอบสวนและใช้ดุลพินิจออกคำสั่งตามลำพังเพียงคนเดียวเท่านั้น การสอบสวนหาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงอาจมีข้อบกพร่องได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงานดังกล่าวคู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษาศาลแรงงานที่จะต้องวินิจฉัยประกอบพฤิตการณ์แห่งคดีแต่ละคดีแตกต่างกันไป การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงคดีนี้ในประเด็นที่ว่าโจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 2 โดยมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์นำสืบเพิ่มเติมไว้ในการพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบในคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหายอย่างร้ายแรง มีข้อบกพร่องในการทำงานทำให้เอกสารสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบสูญหายหรือไม่ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share