คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5559/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 1ฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ และเมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ
แม้ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า ป. เป็นผู้เสียหายคดีนี้ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ชักชวน ป. กรรมการผู้จัดการบริษัท ป. ให้ลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ กองการบินทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยบอกว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนของเงินที่นำไปลงทุน ต่อมา ป. สั่งจ่ายเช็คของบริษัท ป. ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป 16 ฉบับ รวมเป็นเงิน 11,537,000 บาท และได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 คืนมารวม 3,132,000 บาท ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า ป. เป็นผู้เสียหาย จึงขัดกับข้อเท็จจริงเรื่องพฤติการณ์ในการกระทำความผิดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังเป็นยุติอันเป็นการผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลฎีกาสามารถฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังมาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้ความจากคำเบิกความของ ป. ว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 จำเลยทั้งสองไปหา ป. ที่สถานีบริการน้ำมันของบริษัทโจทก์ร่วม ชักชวนให้เอาเงินไปลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ ที่กองการบินทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนของเงินที่นำไปลงทุน หลังจากนั้น ป. ได้สั่งจ่ายเช็คซึ่งเป็นเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยทั้งสองรวม 16 ฉบับ เพื่อนำไปร่วมลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ โดยมีการหักค่าตอบแทนไว้ก่อน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเจือสมว่า ได้ชักชวน ป. ให้ลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ โดย ป. สั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินลงทุน เมื่อได้รับเช็คดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะนำไปเรียกเก็บเงิน เห็นว่า ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 ไปหลอกลวง ป. จน ป. หลงเชื่อและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 ไป เท่ากับเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยเพราะการไปหลอกลวงนิติบุคคลย่อมต้องหลอกลวงผู้แทนนิติบุคคล ทั้งจำเลยที่ 1 ย่อมไม่สนใจว่าจะหลอกลวง ป. ในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้ทำการแทนโจทก์ร่วม ขอให้ได้รับเงินมาจากการหลอกลวงเท่านั้น และจำเลยที่ 1 ได้เงินมาจากการนำเช็คของโจทก์ร่วมทุกฉบับไปเรียกเก็บเงิน เงินที่จำเลยที่ 1 รับไปย่อมเป็นเงินของโจทก์ร่วมทั้งสิ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรี ต. พนักงานสอบสวน ประกอบรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 ว่า ป. กรรมการผู้จัดการของบริษัท ป. มาแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง โดยกล่าวหาว่าบุคคลทั้งสองร่วมกันฉ้อโกง โดย ป. ได้ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของบริษัท ป. ไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ดังนี้ ป. จึงร้องทุกข์ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ป. อันเป็นการกระทำแทนบริษัท ป. การร้องทุกข์จึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม และยกคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 8,405,000 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 และให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 8,405,000 บาท แก่ผู้เสียหาย กับนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2672/2547 2903/2547 3505/2547 471/2548 1897/2548 และ 2410/2548 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทปกฉัตร จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 3 ปี และให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 8,405,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ส่วนคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อเนื่องจากยังไม่ได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่อาจนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อได้ ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 8,405,000 บาท แก่นางปิยฉัตร ผู้เสียหาย และให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทปกฉัตร จำกัด เข้าร่วมเป็นโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ภริยาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายจริง ตามใบมรณะบัตรแนบท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2556 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และคำขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 2 ย่อมตกไปด้วย จึงต้องจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ และเมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การร้องทุกข์คดีนี้ชอบหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า นางปิยฉัตรเป็นผู้เสียหายคดีนี้ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ชักชวนนางปิยฉัตร กรรมการผู้จัดการบริษัทปกฉัตร จำกัด ให้ลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ กองการบินทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยบอกว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนของเงินที่นำไปลงทุน ต่อมานางปิยฉัตรสั่งจ่ายเช็คของบริษัทปกฉัตร จำกัด ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป 16 ฉบับ รวมเป็นเงิน 11,537,000 บาท และได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 คืนมารวม 3,132,000 บาท ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่านางปิยฉัตรเป็นผู้เสียหาย จึงขัดกับข้อเท็จจริงเรื่องพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังเป็นยุติอันเป็นการผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลฎีกาสามารถฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังมาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้ความจากคำเบิกความของนางปิยฉัตรว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 จำเลยทั้งสองไปหานางปิยฉัตรที่สถานีบริการน้ำมันของบริษัทโจทก์ร่วม ชักชวนให้เอาเงินไปลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ ที่กองการบินทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนของเงินที่นำไปลงทุน หลังจากนั้นนางปิยฉัตรได้สั่งจ่ายเช็คซึ่งเป็นเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยทั้งสองรวม 16 ฉบับ เพื่อนำไปร่วมลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือโดยมีการหักค่าตอบแทนไว้ก่อน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเจือสมว่า ได้ชักชวนนางปิยฉัตรให้ลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ โดยนางปิยฉัตรสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินลงทุน เมื่อได้รับเช็คดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะนำไปเรียกเก็บเงิน เห็นว่า นางปิยฉัตรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 ไปหลอกลวงนางปิยฉัตร จนนางปิยฉัตรหลงเชื่อและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 ไป เท่ากับเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยเพราะการไปหลอกลวงนิติบุคคลย่อมต้องหลอกลวงผู้แทนนิติบุคคล ทั้งจำเลยที่ 1 ย่อมไม่สนใจว่าจะหลอกลวงนางปิยฉัตรในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้ทำการแทนโจทก์ร่วม ขอให้ได้รับเงินมาจากการหลอกลวงเท่านั้น และจำเลยที่ 1 ได้เงินมาจากการนำเช็คของโจทก์ร่วมทุกฉบับไปเรียกเก็บเงิน เงินที่จำเลยที่ 1 รับไปย่อมเป็นเงินของโจทก์ร่วมทั้งสิ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีต่อศักดิ์ พนักงานสอบสวน ประกอบรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า นางปิยฉัตร กรรมการผู้จัดการของบริษัทปกฉัตร จำกัด มาแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง โดยกล่าวหาว่าบุคคลทั้งสองร่วมกันฉ้อโกง โดยนางปิยฉัตรได้ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของบริษัทปกฉัตร จำกัด ไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ดังนี้ นางปิยฉัตรจึงร้องทุกข์ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทปกฉัตร จำกัด อันเป็นการกระทำแทนบริษัทปกฉัตร จำกัด การร้องทุกข์จึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม และยกคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 8,405,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทปกฉัตร จำกัด เข้าร่วมเป็นโจทก์ และที่ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 8,405,000 บาท แก่นางปิยฉัตร เป็นให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 8,405,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share