คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5693/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งที่ให้โจทก์รื้อถอนอาคารเป็นคำสั่งของนายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งมาตรา 42 ให้อำนาจไว้โดยเฉพาะแยกต่างหากจากการสั่งในฐานะเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารแล้ว โจทก์ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้
อาคารพิพาทเป็นอาคารพาณิชย์สร้างเสร็จแล้ว ด้านหลังอาคารเว้นช่องว่างไม่ถึง 2 เมตร ตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และตามที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นกรณีที่มีการก่อสร้างอาคารโดยฝ่าฝืนมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ดังนั้นตราบใดยังไม่แก้ไขให้ถูกต้องเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามมาตรา 40, 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ดังนั้น ที่นายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนด้านหลังอาคารพิพาท 2 คูหาให้มีที่ว่างเป็นทางเดินหลังอาคาร 2 เมตร และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 เลขที่ สห 5204/1474 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัย เลขที่ 0022/20037 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2537 และห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับอาคารเลขที่ 643/97 ถนนพันเรือง ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งที่ให้โจทก์รื้อถอนอาคารตามคำสั่งเลขที่ สห 5204/1474 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 เป็นคำสั่งของนายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ซึ่งมาตรา 42 ให้อำนาจไว้โดยเฉพาะแยกต่างหากจากการสั่งในฐานะเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนโจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่นั้น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารแล้วโจทก์ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และได้แจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบแล้วตามหนังสือเลขที่ สห 0022/20037 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2537 ดังนี้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งเลขที่ สห 5204/1474 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อมิให้คดีล่าช้าเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย เห็นว่า เมื่ออาคารพิพาทเป็นอาคารพาณิชย์สร้างเสร็จแล้วด้านหลังอาคารเว้นช่องว่างไม่ถึง 2 เมตร ตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และตามที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นกรณีที่มีการก่อสร้างอาคารโดยฝ่าฝืนมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ดังนั้นตราบใดยังไม่แก้ไขให้ถูกต้องเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามมาตรา 40, 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดังนั้นที่นายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเลขที่ สห 5204/1474 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ให้โจทก์รื้อถอนด้านหลังอาคารพิพาท 2 คูหา ให้มีที่ว่างเป็นทางเดินอาคาร 2 เมตร และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share