แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทุกวัน และกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือนของโจทก์ทุก ๆ เดือน ทั้งยังระบุให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน จึงเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา อันเป็นการกำหนดการนับระยะเวลาโดยนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/1 แม้วันสิ้นเดือนเป็นวันหยุดทำการ โจทก์ก็คิดหักทอนบัญชีเมื่อสิ้นเดือนได้โดยไม่ถือเอาวันเปิดทำการถัดไปเป็นวันปิดบัญชี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,955,837.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,954,364.43 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยหนี้ดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,334,246.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้บังคับจำนองและบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การมีใจความทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,955,837.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 9,954,364.43 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,334,246.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองและบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามชำระหนี้จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสามจำนวน 104,127.50 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 319-6-01555-6 กับโจทก์ สาขาอำนาจเจริญ มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ 2 ฉบับ โดยใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัด ฉบับแรกลงวันที่ 29 เมษายน 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 4,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็ม. อาร์. อาร์. บวกสองต่อปี ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 เมษายน 2541 และตกลงว่าให้หนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ค้างชำระอยู่กับโจทก์เป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทุกวัน กำหนดชำระเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน หากมียอดหนี้เกินวงเงินจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดหรือปรับอัตราดอกเบี้ยได้และยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 11 แปลง เป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และได้จำนองที่ดิน 1 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 9,120,944.17 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่อาจใช้เช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้เนื่องจากโจทก์ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค
คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์นำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า หากวันปิดบัญชีสิ้นเดือนตรงกับวันหยุดทำการจะต้องถือเอาวันเปิดทำการถัดไปเป็นวันปิดบัญชี เมื่อไม่ชำระจึงจะมีสิทธินำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/4 มาตรา 193/8 นั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2. กำหนดให้คิดดอกเบี้ยทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือนของโจทก์ทุก ๆ เดือน และข้อ 3. ยังระบุให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน ตามบัญชีกระแสรายวันจึงเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา อันเป็นการกำหนดการนับระยะเวลาโดยนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/1 แม้วันสิ้นเดือนเป็นวันหยุดทำการ โจทก์ก็คิดหักทอนบัญชีเมื่อสิ้นเดือนได้ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 2540 ไม่ถูกต้องนั้น เมื่อพิจารณาบัญชีกระแสรายวันและรายการคำนวณดอกเบี้ย ปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน 2540 อันเป็นวันปิดบัญชีสิ้นเดือนจึงเป็นการคำนวณวันและคิดดอกเบี้ยทบต้นถูกต้องแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์.