คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่น ดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 ไม่ เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คนละ ๒ ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญากล่าวหาว่าโจทก์แจ้งความเท็จเรื่องยักยอกสร้อยเพชรและแหวนเพชรนั้นไม่เป็นฟ้องเท็จ และจำเลยทั้งสามเบิกความในคดีอาญาดังกล่าวก็ไม่เป็นเบิกความเท็จ พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ในส่วนคดีอาญา (คงหมายถึงคดีที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ) ศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์นำของพิพาทไปจ้างจำเลยที่ ๑ ทำสร้อยข้อมือเพชรและต่างหูเพชร (ที่ถูกเป็นทำเป็นแหวนเพชร) ดังนั้นข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่มีเหตุผลที่จะลบล้างคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในประเด็นนี้ได้ ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องรับฟังดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๖ นั้นไม่ แม้โจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะเป็นคู่ความเดียวกัน พยานจำเลยชุดเดียวกันดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงคดีนี้ถึงหากจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ศาลฎีการับฟังในคดีอาญาที่โจทก์กล่าวอ้างก็เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share