คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4908/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฟ้องโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้มิได้ระบุว่าโจทก์ขอให้ลงโทษตามบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ด้วย ซึ่งแสดงว่าฟ้องด้วยวาจาของโจทก์มิได้มีการแจ้งต่อศาลถึงบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แม้การฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง กฎหมายจะมิได้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ข้อไม่เคร่งครัดดังกล่าวคงเป็นเรื่องการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงซึ่งต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวหาได้รวมไปถึงการอ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับการฟ้องคดีเป็นหนังสือ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งโจทก์ต้องแจ้งต่อศาลเมื่อมีการฟ้องด้วยวาจาด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งต่อศาลชั้นต้นถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ในขณะที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้ฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 10, 12, 15 ริบของกลางและให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดมีความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 10, 12, 15 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าสำนัก จำคุก 4 เดือน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฐานเป็นเจ้ามือ จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 101 ฐานเป็นผู้เล่นปรับคนละ 2,000 บาท เรียงกระทงลงโทษสำหรับจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ฐานไม่เข้าตามช่องทาง จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกคนละ 12 เดือน และปรับคนละ 22,000 บาท จำเลยทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 2 เดือน จำเลยที่ 5 ถึงที่ 101 ยกเว้นจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 11,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 101 จ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 3 เดือน ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึง…มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ทั้งตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ก็มิได้ระบุว่าโจทก์ขอให้ลงโทษตามบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ด้วย ซึ่งแสดงว่าฟ้องด้วยวาจาของโจทก์มิได้มีการแจ้งต่อศาลถึงบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่โจทก์ฎีกาประสงค์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 เลย แม้การฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง กฎหมายจะมิได้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ข้อไม่เคร่งครัดดังกล่าวคงเป็นเรื่องการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงซึ่งต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวหาได้รวมไปถึงการอ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับการฟ้องคดีเป็นหนังสือ ตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 158 (6) บัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่ เพราะการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดย่อมเป็นฐานข้อมูลที่ศาลจะต้องนำมาใช้พิจารณาว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจานั้นเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายที่อ้างจริงหรือไม่ หากศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิดอาญา แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดจึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งโจทก์ต้องแจ้งต่อศาลเมื่อมีการฟ้องด้วยวาจาด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งต่อศาลชั้นต้นถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในขณะที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้ฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดนี้ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นก็จะลงโทษจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ในความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ไม่ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยว่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 57, 58, 86, 88, 97 และ 101 ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) และพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยดังกล่าวในความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share