คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3309/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าโรงงานสุราจากจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนการเช่าอัตราค่าเช่าปีละ 979,200 บาท ดังนี้ต้องถือจำนวนค่าเช่าดังกล่าวเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปี เจ้าพนักงานจะอาศัยเทียบเคียงกับการประเมินภาษีโรงเรือนของบริษัทอื่นซึ่งตั้งอยู่ต่างเขตกัน ลักษณะของโรงเรือนและวัตถุประสงค์ในการใช้สอยแตกต่างกัน มาแก้หรือคำนวณค่ารายปีใหม่หาได้ไม่ แม้โจทก์มิใช่ผู้รับประเมิน แต่โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 ตามข้อผูกพันในสัญญาเช่าที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีที่เจ้าพนักงานเรียกเก็บเกินไปซึ่งจำเลยที่ 1อุทธรณ์การประเมินไว้แล้วคืนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับ พ.ศ. 2523-2537เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เฉพาะที่ดินและอาคารได้กำหนดค่าเช่าไว้ปีละ 979,200 บาท จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นเงินปีละ 122,400 บาทและตามสัญญาเช่ากำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2526 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 3,090,568.93 บาท จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินภาษีจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ทักท้วงว่าการคำนวณภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ต่อจำเลยที่ 4 และโจทก์ได้นำเงินค่าภาษีจำนวน 3,090,568.93 บาทไปชำระให้แก่จำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่แล้วมีคำสั่งยกคำร้องตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 ต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธโจทก์เห็นว่าคำสั่งชี้ขาดของจำเลยที่ 4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยที่ 4ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและโรงเรือนจากจำเลยที่ 1มีค่าเช่าเพียงปีละ 979,200 บาทแต่จำเลยที่ 4 กลับนำเอาค่าเช่าทรัพย์สินอื่นไปรวมคำนวณเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องเสียภาษีมากขึ้นขอให้พิพากษาและบังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนคำชี้ขาดตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 โดยให้โจทก์รับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงินเพียงปีละ 122,400 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เรียกเก็บเกินไปจำนวน2,968,168.93 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้อุทธรณ์การประเมินและการเรียกเก็บภาษีของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่อาจฟ้องร้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 อันเป็นส่วนราชการด้วยกันได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำการใด ๆ หรือละเว้นการทำการใด ๆอันอาจจะทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 3 และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 4ให้จำเลยที่ 3 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่เรียกเก็บเกินไปจำนวน 2,989,168.93 บาท แก่โจทก์ภายในสามเดือน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่คืนภายในกำหนด ให้จำเลยที่ 3 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์เสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 3 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 กำหนดให้เรียกเก็บภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน และค่ารายปีให้หมายความว่า จำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าค่าเช่านั้นเป็นหลักคำนวณค่ารายปี และกำหนดเหตุที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้เพียงกรณีเดียวเท่านั้น คือกรณีที่มีเหตุอันบ่งให้เห็นว่า ค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ สำหรับกรณีของโจทก์นี้แม้จำเลยที่ 3 จะนำสืบได้ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไปตรวจสอบสภาพโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าในแต่ละเขต แล้วนำมาเสนอคณะกรรมการวางหลักเกณฑ์และประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.9แล้วคณะกรรมการดังกล่าวจึงได้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขข้อ 2 ของรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.10โดยถือตามหลักเกณฑ์ว่า ตัวอาคารที่เป็นตึก กำหนดค่าเช่าตารางเมตรละ30 บาทต่อเดือน ตัวอาคารที่เป็นไม้ กำหนดค่าเช่าตารางเมตรละ 20บาทต่อเดือน โรงเรือนที่เป็นถังเก็บน้ำมัน น้ำตาล ฯลฯ ประเมินลูกบาศก์เมตรละ 20 บาทต่อเดือน ที่ดินต่อเนื่องตารางเมตรละ 5 บาทต่อเดือน และรายการที่มีเครื่องจักรประเมินตามมาตรา 13 แต่ก็เห็นได้ว่า การกำหนดค่าเช่าเพื่อคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 เป็นเพียงกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้เท่านั้น อันเนื่องมาจากนางสุนทรีย์ ผลอนันต์เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 เห็นว่าค่าเช่ารายของโจทก์ไม่สมควร ไม่ปรากฏจากพยานจำเลยที่ 3 คนใดว่า เหตุที่ต้องทำการแก้หรือคำนวณค่ารายปีใหม่เพราะมีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้น มิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 แต่ประการใด ตรงกันข้ามกรณีของโจทก์กลับน่าเชื่อว่าค่าเช่าในกรณีของโจทก์เป็นจำนวนเงินอันสมควร เพราะเป็นการเช่าที่มีการจดทะเบียนการเช่ากันเป็นหลักฐานและกระทำโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมอันเป็นหน่วยงานของรัฐเอง ลำพังแต่เพียงนางสุนทรีย์เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 นำกรณีของโจทก์ไปเปรียบเทียบกับการประเมินภาษีโรงเรือนของบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมแก้วไทย จำกัดเขตราษฎร์บูรณะ ก็ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะบ่งว่าค่าเช่าที่โจทก์นำมาคำนวณเสียภาษีโรงเรือนไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรเพราะลักษณะของโรงเรือนและวัตถุประสงค์ในการใช้สอยตลอดจนสถานที่ตั้งโรงเรือนแตกต่างกับกรณีของโจทก์ เมื่อไม่มีเหตุบ่งว่าค่าเช่าในกรณีของโจทก์ไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้เช่นนี้แล้ว จำเลยที่ 3 ก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะแก้หรือคำนวณค่ารายปีในกรณีของโจทก์เสียใหม่ได้ จึงต้องถือค่าเช่าตามที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ 1 ปีละ 979,200 บาท เป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีเพื่อเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน
จำเลยที่ 3 ฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าโรงเรือนและที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพื่อดำเนินกิจการโรงงานผลิตสุรา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้เช่าโรงเรือนจากจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับประเมิน โจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 3 ข้อตกลงตามสัญญาเช่าเกี่ยวกับเรื่องการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ไม่ผูกพันตามสัญญาด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 31 จะบัญญัติว่าผู้รับประเมินจะนำคดีไปสู่ศาลก็ได้ ดังจำเลยที่ 3 ฎีกาก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็หาได้ตัดอำนาจโจทก์ผู้มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 ตามความผูกพันในสัญญาเช่าที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 และเห็นว่าจำเลยที่ 3 เรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินไว้ไม่ถูกต้องที่จะนำคดีมาสู่ศาลเพื่อฟ้องเรียกค่าภาษีดังกล่าวในส่วนที่จำเลยที่ 3 เรียกเก็บเกินไปคืนให้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้ได้จำเลยที่ 3 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่เรียกเก็บเกินไปเป็นเงิน2,968,168.93 บาท ตามที่โจทก์ฟ้องให้แก่โจทก์ ไม่ใช่จำนวน2,989,168.93 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาจำเลยที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนที่เรียกเก็บเกินไปจำนวน 2,968,168.93 บาท ให้โจทก์นอกจากที่แก้ให้เห็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share