แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา?” นั้น เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกชั้นศาลมิได้หมายความถึงก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่อย่างใด
เมื่อความสามารถในการฟ้องของโจทก์ในการแต่งตั้งทนายความบกพร่องและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่เข้ามาพร้อมกับคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นสั่งรับขึ้นมาแล้วเช่นนี้ ศาลฎีกา จึงเห็นสมควรอนุญาต อำนาจฟ้องจึงสมบูรณ์มาแต่แรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๘๙๙,๒๔๔ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๘๙๙,๒๔๔ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยว่า ใบแต่งทนายความโจทก์ฉบับลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๙ บกพร่องการแก้ไข ข้อบกพร่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๖ คู่ความสามารถกระทำการใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แม้มาตรา ๖๖ จะให้อำนาจศาล ทำการสอบสวนเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ไม่ได้บังคับศาลต้องทำการสอบสวน เมื่อปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ขอแก้ไขความบกพร่อง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว และเป็นการแก้ไขตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๙ ที่แต่งตั้งนายวัชรินทร์เป็นทนายความ บกพร่อง นายวัชรินทร์จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม ๑๔,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๙ ระบุว่าบริษัทเทพปรานี (๑๙๙๑) จำกัด โดยนายบุญยืน กรรมการผู้ลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นผู้แต่งตั้งทนายความ และนายบุญยืน ลงชื่อเป็น ผู้แต่งทนายความ ทนายความผู้ได้รับการแต่งตั้งรับรองลายมือชื่อ ชั้นพิจารณานายบุญยืน ก็เบิกความเป็นพยานในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า นายบุญยืน เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพปรานีเคหะการ ดังนั้นการที่ใบแต่งทนายใช้ตราประทับของห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพปรานีเคหะการแทนที่จะใช้ตราประทับของบริษัทโจทก์ จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นการหยิบตราประทับผิดเป็นการผิดพลาดบกพร่อง ในตัวผู้แต่งทนายความ ไม่ใช่การพิจารณาผิดระเบียบ แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความที่ถูกต้องเข้ามาใหม่พร้อมกับคำแก้อุทธรณ์อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ จะสั่งสอบสวนหรือยอมรับการแก้ไขนั้นได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ว่าฝ่ายจำเลยจะยกเอาข้อบกพร่องนี้ ขึ้นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๖ วรรคสอง ที่ว่า “ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา?” นั้น มิได้หมายความถึงก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัย แต่อย่างใด เพราะบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกชั้นศาล เมื่อความสามารถในการฟ้องของโจทก์บกพร่องและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่เข้ามาพร้อมกับคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับขึ้นมาแล้วเช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตยอมรับการแก้ไขนั้น ดังนี้อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์จึงกลับเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่แรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย?
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และ ชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม ๑๕,๐๐๐ บาท .