แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญากู้ยืมเงินเลิกกันไปแล้วตามการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ เพราะจำเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินกู้ยืมก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราลอยตัวได้ ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เดิมตามข้อสัญญาต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และประกาศธนาคารโจทก์ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กับยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับจากจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาได้ด้วยเช่นกัน ตามข้อสัญญาและ ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสี่ แต่สำหรับค่าเสียหายส่วนที่เป็นเบี้ยปรับ อันได้แก่ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2 กับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งอยู่ระหว่างร้อยละ 1.75 ถึง 3.25 ต่อปี นั้น เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของโจทก์ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยในตลาดการเงินในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลงแล้วเห็นว่าสูงเกินไป จึงสมควรกำหนดให้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเบี้ยปรับได้อีกเพียงร้อยละ 0.50 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี หรือเท่ากับดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2.50 ต่อปี
(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2547)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ ๒ ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ ๑๘.๗๕ ต่อปี และจะผ่อนชำระต้นเงินรวมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทุกเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดตราจองพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ทุกประเภทของจำเลยที่มีต่อโจทก์โดยมีข้อตกลงว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระแก่โจทก์จนครบ หลังจากจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินที่กู้ยืมไปจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลย จำเลยได้รับหนังสือแล้ว จำเลยคงชำระเงินให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔.๕๐ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินและไม่เคยรับเงินจำนวนตามฟ้องไปจากโจทก์ ทั้งไม่เคยจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องทำขึ้นโดยทุจริตเพื่อฉ้อโกงเงินของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประการแรก พยานฝ่ายโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จำเลยยอมรับว่าขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินนั้น ก่อนลงลายมือชื่อ จำเลยได้อ่านข้อความในช่องที่ต้องลงลายมือชื่อแล้ว จำเลยทราบว่าเป็นช่องลายมือชื่อผู้กู้ ไม่ใช่ค้ำประกัน จำเลยทราบดีว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารการกู้ยืมเงิน ดังนี้ จึงเชื่อได้ว่าขณะลงลายมือชื่อในเอกสาร จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยกำลังลงลายมือชื่อในเอกสารที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ส่วนการจดทะเบียนและทำหนังสือสัญญาจำนองรวมทั้งบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องขึ้นเงินจำนองซึ่งเป็นเอกสารราชการนั้น ผู้จำนองและผู้รับจำนองจะต้องไปทำด้วยตนเองต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินตามกฎหมาย หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ลงลายมือชื่อรับรองความในข้อนี้ไว้ในเอกสารดังกล่าวทั้งสองฉบับว่า จำเลยไปทำนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วยตนเอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองกับโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้อง
ประการที่สอง โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขซึ่งสูงกว่าอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ ๒ ต่อปี เนื่องจากจำเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ให้ถูกต้อง อันเป็นกรณีที่โจทก์สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินได้ ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราที่สูงขึ้นได้ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร จึงมีผลเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้า เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญา ดังนั้น เงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ ๒ ต่อปี ตามที่กำหนดไว้เดิม จึงถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๗๙ หากสูงเกินส่วน แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๓ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับ ที่สูงเกินส่วนและศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้สัญญากู้ยืมจะเลิกกันแล้วโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับจากจำเลย ซึ่งเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาได้ตามสัญญาข้อ ๑๒ และ ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ วรรคสี่ รวมทั้ง มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากจำเลยในอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ ๒ ซึ่งเป็นอัตราลอยตัวตามประกาศธนาคารโจทก์ ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญาต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง และประกาศธนาคารโจทก์ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดดังกล่าวข้างต้น เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของโจทก์ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยในตลาดการเงินในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลงแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเบี้ยปรับอีกร้อยละ ๐.๕๐ ต่อปี เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ ๒ ต่อปี หรือเท่ากับดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ ๒.๕๐ ต่อปี ตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ตามประกาศธนาคารโจทก์ จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยลอยตัวในอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกด้วยร้อยละ ๒ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ จนถึงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๑ และนับแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไป ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยลอยตัวแก่โจทก์ในอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ ตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ บวกด้วยร้อยละ ๒.๕๐ ต่อปีทุกอัตรา จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยทุกอัตราหลังวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นมาต้องไม่เกินกว่าร้อยละ ๑๔.๕๐ ต่อปี ทั้งนี้ให้นำเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๑ ค่าดอกเบี้ยจำนวน ๓,๕๐๐ บาท ที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ค่าดอกเบี้ยจำนวน ๓,๔๐๐ บาท ที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๒ มาหักออกจากค่าดอกเบี้ยดังกล่าวก่อน หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดตราจองพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์.