คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำเลยยักยอกเงิน 2 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน จำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 2 กระทง 5 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดฐานยักยอกตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี
ดังนี้ถือว่าแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 23/2503) (ควรเทียบดูฎีกาที่ 619/2499)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีของสมาคมกรรมกรไทย ในข้อหายักยอกเงินของสมาคมกรรมกรไทย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓, ๗๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๓๕๒, ๓๕๓ กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสามแสนบาทให้แก่สมาคมกรรมกรไทยด้วย
จำเลยปฏิเสธ
ศาลอาญาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยยักยอกเงินของสมาคมกรรมกรไทยไปสามแสนบาทจริงตามฟ้อง จำเลยมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๔, ๓๑๙ โดยฐานมีหน้าที่โดยตรง และโจทก์ขอเพียงมาตรา ๓๑๔ ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ จำเลยยักยอกเงิน ๒ ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน จำคุกจำเลยกระทงละ ๒ ปี ๖ เดือน รวม ๒ กระทง ๕ ปีให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสามแสนบาทให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ยักยอกเงินของสมาคมกรรมกรไทยไปจริงตามฟ้อง จำเลยได้รับมอบโดยเฉพาะให้ไปรับเงินจากกรมประชาสงเคราะห์และรับมอบเช็คให้ไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วจำเลยยักยอกเอาเสีย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๔ ไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ และพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยกระทงละ ๑ ปี ๖ เดือน รวมจำคุกจำเลย ๓ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ๔ ข้อ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาดังกล่าวข้างต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้นั้น โดยมติที่ประชุมใหญ่ถือว่า แก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๘ ฎีกาข้อ ๑ ถึง ข้อ ๓ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้าม ส่วนฎีกาข้อ ๔ ที่ว่า สมาคมกรรมกรไทยถูกคณะปฏิวัติขีดชื่อออกจากทะเบียนสิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว อัยการหมดอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยต่อไปนั้น จำเลยมิได้อุทธรณ์ จะยกขึ้นมาในชั้นฎีกาไม่ได้
ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share