คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทอ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ และผู้โอนเช็คพิพาทกับโจทก์ผู้รับโอนคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่อ้าง เมื่อจำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้ทรงคนก่อน การที่ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ ทั้งเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ จำเลยไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ ทั้งจำเลยจะอ้างว่าโจทก์และผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินต่อกันหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
(ปัญหานี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำนักเพลินจิต ลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๐ จำนวนเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อและผู้มีชื่อได้นำเช็คฉบับดังกล่าวมาชำระหนี้ค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขานวนคร เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ โดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๕,๐๗๘,๑๒๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๕,๐๗๘,๑๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑) ต้องไม่เกินจำนวน ๗๘,๑๒๕ บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเช็คพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้และผู้โอนเช็คพิพาทกับโจทก์ผู้รับโอนคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่อ้าง เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนัก จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง… สำหรับข้อที่จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากนายกนกผู้ทรงคนก่อนโดยโจทก์และนายกนกผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกัน เป็นเพียงการโอนให้โจทก์ฟ้องคดีแทนนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่า เช็คพิพาทระหว่างจำเลยและนายกนกผู้ทรงคนก่อนไม่มีมูลหนี้ จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงต้องรับผิดต่อนายกนกผู้ทรงคนก่อน การที่นายกนกผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับนายกนกผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์และนายกนกผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกันในการรับโอนเช็คพิพาทมาหาได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๙๐๐ วรรคหนึ่ง , ๙๑๔ , ๙๑๘ , ๙๘๙ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑๐๐,๐๐๐ บาท.

Share