คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1619, 1733 วรรคสอง, 1750, 1754
ท.เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหลังจากโจทก์สละมรดกแล้ว 4 วันจึงเป็นการแสดงเจตนาสละมรดกที่ฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1619 การสละมรดกจึงไม่เกิดผลตามกฎหมาย ถือเท่ากับว่าไม่มีการสละมรดก โจทก์จึงยังคงมีสิทธิในทรัพย์มรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรม และการที่โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินมรดกและไม่เคยติดใจเรียกร้องทรัพย์มรดก ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้ถือว่าเป็นการปิดปากและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์สละมรดกนั้นแล้ว
เมื่อการสละมรดกโดยโจทก์ไม่เกิดผลตามกฎหมาย โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกอยู่ การไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกโดยจำเลยตกลงรับสภาพหนี้ต่อธนาคารและผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร ก็ปรากฏว่าโจทก์และน้อง ๆ ทุกคนก็ช่วยกันออกเงินคนละ 20,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการหาใช่เป็นเงินของจำเลยเพียงคนเดียวไม่ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันระหว่างพี่น้องจำเลยให้จำเลยไปจัดการไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดก แล้วจำเลยจะได้รับที่ดินมรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรมเป็นการตอบแทนที่ดินมรดกในส่วนดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก โดยโจทก์ฟ้องตั้งประเด็นว่าโจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมมีสิทธิรับมรดกที่ดินมรดก จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบ ไม่ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดก กรณีนี้ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จึงจะนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาบังคับใช้กับกรณีนี้หาได้ไม่

Share