แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๑ เวลาประมาณ ๒ นาฬิกาก่อนเที่ยง จำเลยกับพวกสมคบกันเข้าปล้นบ้านนายชม ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีจำเลยเอาขวานฟันนายชม และใช้ปืนยิงนางมูลภรรยานายชมมีบาดเจ็บ แล้วเก็บเอาทรัพย์ไปรวมราคาเงิน ๒๕๐ บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๓๐๑ ฯ
จำเลยทั้ง ๓ คนให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่ามีฐานที่อยู่ ฯ
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี พิจารณาคดีแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเปนผู้ร้ายปล้นทรัพยนายชม ทำร้ายเจ้าทรัพย์มีบาดเจ็บแล้วเก็บเอาทรัพยไป ผิดกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๓๐๑ จึงเสนอความเห็นต่ออธิบดีมณฑล ว่าควรลงโทษจำคุกจำเลยคนละ ๑๕ ปี แต่นายแต้มจำเลยคนหนึ่งนั้นว่าให้การรับสารภาพในชั้นไต่สวน ควรปราณีย์จำเลยตามมาตรา ๕๙ กึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุกนายแต้มเพียง ๗ ปี ๖ เดือน ฯ
อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลมีความเห็นแย้งว่า พวกเจ้าทรัพยที่เบิกความว่าจำนายชุ่ม นายเปลื้องจำเลยได้นั้นมีมลทินน่าสงสัยเช่นคำนายชม นางมูลไม่ได้บอกความกับเจ้าพนักงานเมื่อมาไต่สวนและขุนอารี ฯ ได้ถามนายชมว่าจำผู้ร้ายได้ฤาไม่ นายชมก็นิ่งเสียต่อเมื่อถูกถามหนักเข้า นายชมจึงบอกให้ขุนอารี ฯ ไปสืบดูทางบางปลาร้าดูไม่สมเหตุที่ว่าจำผู้ร้ายได้ ประการหนึ่งนายชมเจ้าทรัพย์กับนายชุ่มจำเลยก็เปนคนเคยรู้จักกัน แลมีสาเหตุต่อกันด้วย นายชมได้เบิกความว่า ในขณะเมื่อผู้ร้ายมาปล้น นายเรือง นางสาวเขียว นายจ๋องกระโดดน้ำหนีไป แต่นายเรือง นายจ๋อง นางสาวเขียวมาเบิกความว่าจำผู้ร้ายได้จึงฟังไม่สนิธ ส่วนคำนายเภา นายแหยมก็เบิกความแตกต่างในเมื่อเห็นจำเลยลงเรือที่ตำบลบางชอ นายเภาว่าจำเลย ๓ คนนี้ไปเรือลำหนึ่ง พวกของจำเลยคนหนึ่งไปเรืออีกลำหนึ่ง เรือ ๒ ลำนี้ไปทางเดียวกัน แต่นายแหยมว่าได้เห็นจำเลย ๓ คนไปเรือลำเดียวไม่เห็นมีพวก และไม่เห็นเรือลำอื่นไปกับเรือจำเลยอีกและจะไปทางไหนก็ทราบไม่ได้ พยานทั้ง ๒ คนนี้จึงไม่เปนพยานที่ห้อมล้อมกรณี ปืนของกลางที่ไปค้นได้ในน้ำท่างบ้านนายชุ่มจำเลยระมาณ ๑๐ วา แต่ก็ได้ความว่าทางน้ำนั้นเปนที่คนสัญจรไปมา ไม่พอจะสันนิษฐานว่าปืนของกลางอยู่ในความซ่อนเร้นของนายชุ่มจำเลย คำรับของนายแต้มชั้นไต่สวนก็ได้ความจากนายเภาว่าขุนอารี ฯ จะช่วยเหลือ นายแต้มจึงให้การรับคำรับของนายแต้มจึงไม่เปนประโยชน์ เมื่อหลักฐานของโจทยเปนเหตุให้สงสัยอยู่ตลอดเรื่องเช่นนี้ จึงควรยกฟ้องโจทย์ปล่อยตัวจำเลยไป แต่เปนความเห็นข้างน้อย ความเห็นศาลจังหวัดเปนคำพิพากษาบังคับคดี ฯ
จำเลยอุทธรณ ศาลอุทธรณข้าหลวงพิเศษพิพากษาเห็นว่าการที่นายขมเจ้าทรัพย์นิ่งเสียมิได้บอกต่อเจ้าพนักงานว่าจำผู้ร้ายได้นั้น ก็ได้ความจากคำขุนอารี ฯ ว่าเปนเวลาที่นายชมกำลังเจ็บบาดแผลมาก แต่ถึงกระนั้นนายชมก็ยังอุส่าห์บอกขุนอารี ฯ ว่าถ้าอยากรู้ให้ไปสืบที่บางปลาร้าฤาบางตาเลน และขุนอารี ฯ ไปสืบจับจำเลยมาได้ นายชมก็ได้รับรองภายหลังว่าจำนายชุ่ม นายเปลื้องได้ ปืนของกลางก็จับได้ข้างเรือนนายชุ่มจำเลย ส่วนนายแต้มจำเลยนั้น โจทย์ไม่มีพยานประกอบคำรับ นายแต้มก็ให้การปฏิเสธต่อศาลตามหลักวิธีพิจารณาจะลงอาญานายแต้มไม่ได้จึงพิพากษาให้แก้คำตัดสินศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ปล่อยตัวนายแต้มไป คงพิพากษายืนแต่ในข้อที่ให้จำคุกนายชุ่ม นายเปลื้องจำเลยแลให้จำเลยใช้ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่เจ้าทรัพย์ราคา ๑๐๐ บาท
นายชุ่ม นายเปลื้องจำเลยทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ฯ
กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนเรื่องนี้แล้ว ทางพิจารณาได้ความดังที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลกล่าวมาในคำแย้ง และข้อที่ศาลอุทธรณข้าหลวงพิเศษกล่าวอ้างว่า การที่นายชมเจ้าทรัพยไม่บอกความต่อเจ้าพนักงานว่าจำผู้ร้ายได้ เพราะเปนเวลาที่นายชมกำลังเจ็บบาดแผลมากนั้น ก็หาเปนความสมจริงไม่เพราะขุนอารี ฯ เบิกความแต่เพียงว่า นายชมเจ้าทรัพย์กำลังเจ็บบาดแผลแต่นายชมก็ยังบอกได้ว่า ถ้าขุนอารี ฯ อยากรู้ตัวผู้ร้ายก็ให้ไปสืบที่บางปลาร้าฤาบางตาเถน กรรมการศาลฎีกาเห็นว่าก็เมื่อนายชมยังบอกความแก่ขุนอารี ฯ ได้เช่นนี้ ก็เหตุไฉนเล่านายชมจึงบอกชื่อผู้ร้ายให้แก่ขุนอารี ฯ ไม่ได้ แลเหตุที่ไม่บอกนี้ก็มิได้แสดงให้เห็นว่ามีข้อขัดข้องอย่างใดไม่ ต่อเมื่อขุนอารี ฯ จับจำเลยมาให้นายชมพวกเจ้าทรัพยดูตัว พวกเจ้าทรัพย์จึงยืนยันเอาว่าจำเลยเปนผู้ร้าย คำนายเรือง นายจ๋อง นางสาวเขียวเบิกความว่าได้เห็นผู้ร้ายแวบเดียวพยานก็กระโดดเรือนหนีไป จึงทำให้เป็นที่สงสัยว่าพยานเหล่านี้จะจำผู้ร้ายไม่ได้ เพราะพยานโจทย์นอกจากนายชมแล้วไม่เคยรู้จักจำเลย และวิธีเจ้าพนักงานจับจำเลยมาให้พวกเจ้าทรัพยดูตัว ก็มิได้คละปนกับผู้ใดเพื่อทดลองความจำหมายของพวกพยานว่าจะจำจำเลยได้จริงฤาไม่ ส่วนนายแต้มจำเลยนั้นไม่มีปัญหาขึ้นมาสู่ยังศาลฎีกาที่จะต้องวินิจฉัย ฯ
อาศรัยเหตุดังที่กล่าวมาแล้วศาลฎีกาสงสัยว่าพยานโจทย์จะจำจำเลยไม่ได้ จึงควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เปนผลดีแก่จำเลย จึงพิพากษาให้กลับคำตัดสินศาลล่าง และให้ยกฟ้องโจทย์ปล่อยตัวจำเลยไป ฯ
วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓